โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๒๕


พระสมเด็จฯวัดระฆัง
พิมพ์ใหญ่ อกกระบอก


              พระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) มีอยู่มากมายหลายพิมพ์ทรง ตามแต่ศิษยานุศิษย์หรือบุคคลที่เคารพศรัทธาในเจ้าประคุณสมเด็จฯจะแกะแบบพิมพ์มาถวาย ภายหลังเมื่อมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน จึงมาทำการแยกแยะเฉพาะบางพิมพ์ทรงเป็นหลักในการสะสม  มีทั้งหมด ๕ พิมพ์ทรงคือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูม และพิมพ์ปรกโพธิ์

              ในแต่ละพิมพ์ทรงยังมีการแตกแขนงตามลักษณะแม่พิมพ์ออกไปอีก เช่นในพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่  มีการกำหนดเป็น ๔ พิมพ์หลัก ได้แก่พิมพ์เส้นแซมใต้ตัก พิมพ์อกวี พิมพ์อกกระบอก และพิมพ์เกศทะลุซุ้ม  สำหรับพิมพ์ที่นำมาลงไว้นี้เป็นแบบพิมพ์ที่ ๓ คือพิมพ์อกกระบอก ซึ่งจัดเป็นพิมพ์หายากที่สุดพิมพ์หนึ่ง


              ลักษณะเด่นของพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ อกกระบอก อยู่ที่ลำพระองค์เป็นทรงตั้งรับกับพระอุระ(อก) แล้วผายขึ้นไปรับกับพระอังสา(ไหล่)ทั้งสองด้าน มองดูเหมือนแก้วทรงปากบานนั่นเอง เหนือขึ้นไปปรากฏลำพระศอ(คอ)รับกับพระพักตร์ทรงผลสมอ พระเกศขึ้นจากส่วนกลางพระเศียร โคนใหญ่ ตอนบนเป็นเส้นคมปลายสะบัดแบบหางหนูขึ้นชนขอบซุ้มครอบแก้ว

              เส้นสายที่ปรากฏขึ้นเป็นองค์พระ เส้นฐาน และเส้นซุ้ม มีขนาดกำลังดีไม่หนาเทอะทะ ประกอบกับการกดพิมพ์ให้น้ำหนักกำลังดี จึงปรากฏความคมชัดตลอดทุกเส้นพิมพ์ และยังเห็นชัดถึงเส้นบังคับพิมพ์ที่ด้านซ้ายองค์พระเป็นเส้นวิ่งตรงจากด้านบนลงมาจรดเส้นซุ้มบริเวณพระกัประ(ข้อศอก) ส่วนเส้นขวาองค์พระลงมาจากด้านบนวิ่งตรงลงมาชนกับขอบซุ้มล่าง


              เสน่ห์ของพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ อกกระบอกองค์นี้ อยู่ที่การลงรักน้ำเกลี้ยง เมื่อรักหมดสภาพสลายหลุดไปจึงปรากฏรอยรานทั่วบริเวณด้านหน้า และเมื่อพลิกกลับไปด้านหลังยังเป็นแบบหลังปาดลงจนเห็นรอยหยุดขยักเป็นระยะ และรอยเหนอะที่ปรากฏทั่วแผ่นหลังยังบ่งบอกว่าเนื้อพระสมเด็จฯองค์นี้มีการผสมมวลสารและน้ำมันตั่งอิ้วค่อนข้างเหลว เมื่อพระแห้งตัวจึงปรากฏรอยเหนอะที่นิยมเรียกกันว่า “หลังสังขยา” ให้เห็นอย่างสวยงามไปอีกแบบหนึ่ง

              นอกจากนั้น ขอบด้านหลังยังปรากฏ รอยแตกรานบริเวณส่วนริมทุกด้าน แสดงให้เห็นถึงสภาวะการรั้งตัวของเนื้อพระ ที่เกิดจากการหดตัว ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระสมเด็จฯวัดระฆังทุกองค์ครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น