โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระยืนประทานพร เกศแฉก


พระยืนประทานพร
เกศแฉก ฐานสามชั้น

              
              พระยืนประทานพรองค์ที่นำมาลงไว้นี้มีความพิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนพระร่วงรางปืนพิมพ์อื่น ๆ ตอนบนเหนือเทริด(กระบังหน้า)มีเกศเป็นขนนก ๕ แฉก พระขนง(คิ้ว)กางเอียงแบบปีกกา พระพักตร์เล็ก ลำพระองค์ได้สัดส่วน พระหัตถ์ขวายกขึ้นทาบพระอุระ(อก)ดูคล้ายคว่ำฝ่าพระหัตถ์เป็นปื้นเฉียง ส่วนโคนพระหัตถ์มีเนื้อแยกขึ้นตรงคล้ายพระอังคุฐ(นิ้วโป้ง) เป็นเอกลักษณ์ของพิมพ์ 

ด้านหน้าเกศแฉก พระพักตร์เล็ก ฐานสามชั้น
              
              พระพาหาซ้าย(แขนท่อนบน)ปล่อยลงเบียดข้างลำพระองค์เล็กน้อย ก่อนจะผายออกตั้งแต่พระกัประ (ข้อศอก)อกไปชนชายจีวรด้านข้าง พระหัตถ์เหยียดตรงลงไปตามแนวจีวร พระกฤษฎี(เอว)บาง ผายออกไปเป็นพระโสณี(สะโพก) ใต้พระนาภี(ท้อง,สะดือ)เป็นขอบสบงรัดประคด ปล่อยชายจีบสบงลงไปยังพระชงฆ์(แข้ง)ประทับยืนภายในซุ้มเรือนแก้วบนฐานสามชั้น โดยส่วนประกอบต่าง ๆเหมือนพระร่วงยืนทั่วไปทุกประการ จัดเป็นศิลปะลพบุรีที่สร้างโดยช่างท้องถิ่นโดยยึดรูปแบบจากศิลปะบายน

              ด้านหลังองค์พระเป็นร่องรางปืนเบี่ยงไปทางขวาเล็กน้อย รอยร่องเป็นแอ่งตื้น ขึ้นจากโคนไปสิ้นสุดบริเวณพระเกศด้านหน้า ภายในร่องปรากฏเส้นเสี้ยนของวัสดุที่กดทับเป็นรอยขวางและแนวเฉียง หากพิจารณาตรงส่วนโคนของรางปืนจะพบว่าเป็นแอ่งลึกลงไป แอ่งนี้เกิดจากการเซ็ตตัวของเนื้อโลหะที่ยุบตัวลงไปภายหลังการบรรจุกรุ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ใช้สำหรับการพิจารณา


ด้านหลังรางปืน โคนล่างเป็นแอ่งลึก มีเส้นเสี้ยนปรากฏตลอดแนวขึ้นไป

              สนิมชั้นนอกที่เห็นเป็นสีขาวขุ่น เกิดจากสนิมแป้งที่ผุดขึ้นผ่านชั้นสนิมไขมองเห็นรอยรานแตกระแหงขนาดต่าง ๆทั่วทั้งองค์พระ รอยรานมีทั้งวิ่งเป็นแนวตรงและแตกลายออกเป็นใยแมงมุม ปะปนด้วยรอยริ้วที่เกิดจากการหดตัวเนื้อพระ และเม็ดผดเป็นหย่อม ๆ ใต้สนิมไขลงไปเป็นสนิมแดงออกเป็นสีส้ม สีน้ำตาล สีน้ำตาลเข้ม และบางส่วนคล้ำจนเป็นสีเปลือกมังคุด         

รอยแตกรานและยุบย่นที่ปรากฏบนผิวองค์พระ
   
             พระร่วงยืนพิมพ์ทรงนี้ตลอดราว ๓๐ ปีเคยพบเพียง ๓ องค์ที่เหลือพบในเว็ปไซต์ จึงจัดว่าค่อนหายาก ผู้ที่ได้ครอบครองไว้เท่าที่สอบถามเป็นมรดกตกมาอีกทอดหนึ่ง มีบางองค์ที่นำมาลงโชว์ไว้พร้อมระบุข้อความเป็นพระของตระกูลอย่างภาคภูมิใจ ความพิเศษของพระพิมพ์นี้อยู่ที่องค์พระและกรอบพิมพ์โดยรวมมีการออกแบบได้สัดส่วนอย่างลงตัว นอกจากเนื้อโลหะที่ผ่านกาลเวลาทำให้เกิดสนิมผุดพรายขึ้นปกคลุมองค์พระอย่างมีเสน่ห์แล้ว ยังเป็นพระร่วงรางปืนแบบพิมพ์ที่มีเอกลักษณ์อย่างชัดเจน.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น