โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ซุ้มกอหล่อโบราณ


ซุ้มกอพิมพ์ใหญ่
เนื้อตะกั่วสนิมแดง


เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ในบรรดาพระเครื่องตระกูลเบญจภาคี พระสมเด็จฯวัดระฆัง เป็นเนื้อปูนปั้น (Stucco) ส่วนพระซุ้มกอ นางพญา ผงสุพรรณ และพระรอด เป็นพระเนื้อดินผสมมวลสารศักดิ์สิทธิ์โดยเป็นการรับรู้กันอย่างกว้าง ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วพระเครื่องในตระกูลนี้มีทั้งการสร้างด้วยเนื้อโลหะทองคำ เนื้อชินเงิน เนื้อชินตะกั่ว หรือแม้แต่เนื้อว่าน ซึ่งไม่ค่อยมีการกล่าวถึงกันมากนัก อาจเป็นเพราะมีพระเป็นจำนวนน้อยไม่เป็นที่แพร่หลาย หรือไม่ได้รับการเผยแพร่เท่าที่ควรจึงทำให้อยู่ในความสนใจของคนทั่วไปน้อยกว่าที่ควรจะเป็น


สำหรับ พระเครื่ององค์ที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ กรุวัดหนองพิกุล เนื้อชินตะกั่ว คือสร้างจากโลหะตะกั่วเป็นประธาน มีส่วนผสมของปรอทที่เป็นตัวนำให้เนื้อตะกั่วแล่นเข้าแม่พิมพ์ง่ายขึ้น จากการพิจารณาพบว่า ใช้แบบพิมพ์เดียวกับพระที่สร้างด้วยเนื้อดิน แต่เมื่อผ่านกาลเวลามานาน การหดตัวของเนื้อโลหะจะทำให้องค์พระมีขนาดย่อมลงกว่าพระเนื้อดินเล็กน้อย ขณะเดียวกันรายละเอียดเส้นสายที่เป็นกนกและองค์พระก็จะยิ่งรัดตัวชัดเจนมากขึ้น


การเทเนื้อโลหะไปยังแบบแม่พิมพ์นั้น เป็นการคว่ำให้ด้านหน้าองค์พระอยู่ด้านล่าง เมื่อเทจนเต็มพื้นด้านบนจะแลดูราบเรียบ ก่อนจะค่อย ๆยุบตัวเป็นแอ่ง เนื่องจากเนื้อโลหะภายในเซ็ทตัวมากขึ้น ลักษณะของด้านหลังแบบนี้ เราจะพบเห็นได้ในพระท่ากระดานซึ่งมีอายุใกล้เคียงกัน มีการยุบตัวเป็นแอ่งเช่นกัน


จากการสังเกตด้านข้างพบว่ามีการหดตัวของเนื้อโลหะเป็นสองชั้น จึงสันนิษฐานได้ว่าช่างผู้ทำการหล่อเทเนื้อโลหะที่ผ่านจุดหลอมละลายไปยังแม่พิมพ์สองครั้ง  ในครั้งแรกเป็นการเทลงไปครึ่งแบบแม่พิมพ์เพื่อให้เนื้อโลหะไหลไปยังส่วนหน้าขององค์พระให้เต็มก่อน จากนั้นจึงเทซ้ำอีกครั้งเพื่อเติมให้เนื้อโลหะเต็มแบบแม่พิมพ์  อาจเป็นไปได้ว่าเป็นการหล่อจำนวนมากในแต่ครั้งละ โดยวางแม่พิมพ์เรียงติดต่อกันแล้วเทลงไปประมาณครึ่งแบบแม่พิมพ์จนครบทุกองค์ จากนั้นจึงเวียนมาเทซ้ำอีกครั้งให้เต็มนั่นเอง


สำหรับสภาพพื้นผิวของพระซุ้มกอ เนื้อชินตะกั่วนี้ เมื่อผ่านเวลามานานหลายร้อยปี เนื้อโลหะจะทำปฏิกิริยากับสภาพความอบอ้าวและความชื้นภายในกรุเจดีย์ จนปรอทที่เกาะกุมผิวพระเปลี่ยนสภาพเป็นดำคล้ำ ก่อนแปรเปลี่ยนเป็นสนิมแดง จากนั้นสารภายในองค์พระได้ขับตัวออกมาจนเกิดเป็นสนิมไขหุ้มสนิมแดงอีกชั้นหนึ่ง ในพระบางองค์หากอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนและชื้นสูง จะมีการขับสารออกมาคลุมเนื้อพระอีกชั้นหนึ่งเรียกว่าสนิมแป้ง ซึ่งสนิมต่าง ๆในแต่ละชั้น เป็นเสมือนปราการป้องกันองค์พระไปในตัว

พระซุ้มกอ เนื้อตะกั่วสนิมแดง แม้จะมีมูลค่าการแลกเปลี่ยนไม่สูงมาก เนื่องจากเกิดความนิยมในพระเนื้อดินมากกว่า แต่เป็นพระเครื่องที่ทรงคุณค่าอันเปี่ยมล้น เพราะสร้างเป็นจำนวนน้อย อีกทั้งกระบวนการสร้างโดยฤาษี ปลุกเสกจากมหาเถระผู้ทรงอภิญญา โดยพระยาลิไททรงเป็นองค์อุปถัมภ์ จึงไม่ต้องอธิบายถึงพลังพุทธคุณ หากมีโอกาสพบพิจารณาให้มั่นใจก่อน  เพราะของปลอมก็มีแพร่ระบาดมานานแล้วนั่นเอง.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น