โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๒๙

พระสมเด็จฯวัดระฆัง

พิมพ์ใหญ่นิยม ลงรักน้ำเกลี้ยง



             พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ของเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ที่อัญเชิญมาองค์นี้ มีขนาดขอบล่างกว้าง ๒.๕ ซ.ม.สูงประมาณ ๓.๕ ซ.ม.องค์พระปฏิมากรประดิษฐานภายในซุ้มครอบแก้วที่หนาใหญ่แบบเส้นผ่าหวาย ขอบซุ้มล้มตอนบนด้านซ้ายองค์พระอันเป็นส่วนหนึ่งในสัญลักษณ์ของพิมพ์ พระพักตร์กลมคล้ายผลส้ม พระเกศโคนใหญ่แบบหางหนูขึ้นโค้งซ้ายเล็กน้อยก่อนจรดกลางขอบบนซุ้มครอบแก้ว ใต้พระปราง(แก้ม)ลงมาในระดับเดียวกับพระหนุ(คาง) ปรากฏเส้นหูเป็นปลายติ่งชัดเจน

              
             องค์พระปฏิมาคล้ายตัววีบริเวณใต้พระนาภี(ท้อง)ผายออกไปทั้งสองด้าน พระอังสา(บ่า)ซ้ายสูงกว่าด้านขวาเล็กน้อย ซอกพระกัจฉะ(รักแร้)ซ้ายสูงลึกกว่าด้านขวา พระพาหา(แขนท่อนบน)ทั้งสองด้านลงมารับกับวงพระกร บริเวณพระกัประ(ศอก)ขวาคอดกว่าด้านซ้าย พระเพลา(หน้าตัก) โค้งรับวงพระกร พระชานุ(เข่า)ซ้ายยกสูงเป็นเส้นจีวรรับกับพระกัประซ้าย
              ฐานชั้นที่ ๓ แบบฐานหมอน ปลายฐานด้านซ้ายโค้งขึ้นไปใกล้พระชานุ(เข่า)ซ้าย เหนือฐานนี้ปรากฏเส้นแซมบาง ๆ ฐานชั้นที่ ๒ แบบคมขวานฐานสิงห์ ปลายด้านซ้ายใหญ่และสูงกว่าด้านขวา ฐานชั้นล่างเป็นแผ่นกระดาน ด้านซ้ายเป็นขอบตรง ด้านขวาปลายเฉียงทำมุมกับขอบมุมซุ้ม เส้นบังคับพิมพ์ด้านซ้าย ขวา และบนเป็นเส้นเรียวเล็ก ฐานล่างเป็นเส้นหนา ในด้านซ้ายยังปรากฏเส้นบังคับพิมพ์ด้านในวิ่งตรงลงมาแล้วเบียดกับขอบเส้นซุ้มบริเวณระดับเดียวกับใต้พระเพลา


              พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่องค์นี้ เป็นพระเนื้อขาวหม่นนุ่ม ลงรักน้ำเกลี้ยงเฉพาะด้านหน้ามาแต่เดิม เมื่อผ่านเวลามานานรักน้ำเกลี้ยงกะเทาะหลุดออกไปจึงพบรายแตกรานอย่างสวยงาม ส่วนด้านหลังเป็นพื้นเรียบมีร่องรอยธรรมชาติตามเนื้อหาของพระสมเด็จฯทุกประการ บริเวณขอบมีร่องรอยของเนื้อพระหดตัวจากการรั้งของเนื้อด้านในจนปรากฏเป็นเส้นปริแตกรานบริเวณด้านขอบบนอย่างชัดเจนและสวยงามครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น