โพสต์แนะนำ

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระยืนประทานพร กรุเนินวิหาร


พระยืนประทานพร
กรุเนินวิหาร สุพรรณบุรี


              พระยืนประทานพร กรุเนินวิหาร เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า“พระร่วงสองพี่น้อง”พบในแหล่งเนินดินปนทรายบริเวณย่านชุมชนเก่าแก่เรียกกันมาแต่เดิมว่า“บ้านหุบระฆัง”ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามวัดอัมพวัน(คลองมะดัน) อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี เชื่อกันว่าเคยเป็นที่ตั้งวัดและชุมชนโบราณ ในอดีตตามพื้นดินมีทั้งพระเครื่อง พระพุทธรูป ศิวลึงค์ดินเผา ลูกปัดแก้ว หยก  และเศษภาชนะดินเผา กระจัดกระจายเต็มพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ใกล้กันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำจระเข้สามพันที่แยกตัวจากบริเวณบ้านนาลาวไปทางทิศตะวันออกไปจนถึงบ้านคลองมะดันก่อนจะไหลไปชนกับคลองสองพี่น้องที่มีต้นทางมาจากแม่น้ำจระเข้สามพันทางตอนบน

ด้านหน้าพิมพ์พระร่วงลพบุรี แสดงถึงสนิมแต่ละชั้นที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

               เนินวิหาร บริเวณคลองมะดันจึงมีความเจริญมาแต่โบราณจากอิทธิพลที่ทางน้ำไหลผ่าน จากหลักฐานโบราณวัตถุที่มีการพบอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้ว่าบริเวณดังกล่าวเคยมีการอยู่อาศัยของชุมชนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูและพุทธ โดยในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพุทธมหายาน-วัชรยานตันตระ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งอาณาจักรเขมรโบราณ ยืนยันได้จากการพบพระร่วง กรุเนินวิหาร(สองพี่น้อง)นับตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๑๓

               พระร่วงกรุเนินวิหาร(สองพี่น้อง)ที่พบ มีอยู่ด้วยกัน ๒ แบบพิมพ์ๆ แรกเป็นพระร่วงยืนศิลปะท้องถิ่นปางประทานพร มีขนาดความสูง ๗ ซ.ม.กว้าง ๒ ซ.ม.มีกรอบพิมพ์เป็นลายเกลียวเชือก ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมจากบรรดานักสะสม ส่วนอีกพิมพ์หนึ่งเป็นศิลปะลพบุรี มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อยคือสูง ๗.๔ ซ.ม.ฐานกว้าง ๒.๓ ซ.ม.เป็นแบบมาตรฐานที่เรียกว่า”พระร่วงลพบุรี”ที่พบในแถบจังหวัดลพบุรีและสุโขทัย ผู้ที่เคยได้ครอบครองจึงนิยมนำไปทำความสะอาดคราบกรุออกเพื่อลบร่องรอยความเป็นกรุสุพรรณไปเป็นกรุลพบุรีหรือสุโขทัยแทน เพราะมีอัตราการแลกเปลี่ยนที่สูงกว่านั่นเอง

ด้านหลังเป็นแอ่งตื้นกว้าง หรือหลังกาบหมาก ปกคลุมด้วยคราบสนิมแป้ง
               พระร่วงลพบุรี กรุเนินวิหาร(สองพี่น้อง)ที่นำมาลงไว้นี้ อยู่ในการครอบครองของคนตระกูลหนึ่งในอำเภอสองพี่น้อง และได้รับการเก็บรักษามาอย่างดีโดยไม่ผ่านการลอกผิวหรือทำลายคุณค่าที่แท้จริงขององค์พระ พุทธลักษณ์เป็นพิมพ์ยืน เรียกว่า”พิมพ์ปางประทานพร” หรือ “วรมุทรา”

               พระพักตร์คว่ำเล็กเรียวแบบหน้านาง สวมอุณหิต(มงกุฎ) ยอดพระเกศคว่ำส่วนบนแหลม ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นแนบพระอุระ พระพาหาซ้าย(แขนท่อนบน)ปล่อยลงแล้วค่อย ๆผายออกตั้งแต่ช่วงพระกัประ(ข้อศอก)ลงไปถึงปลายพระหัตถ์ ลำพระองค์ผอม พระกฤษฎี(เอว)บาง ผายออกรับกับพระโสณี(สะโพก) คาดรัดประคดกึ่งกลางเป็นประจำยามหนึ่งดวง ยึดจีบสบงปล่อยลงไปถึงพระชงฆ์(แข้ง) ปลายจีวรทั้งสองด้านแนบบางได้สัดส่วนลงตัว ประทับยืนบนเส้นฐานล่างสองเส้น ด้านหลังองค์พระเป็นเป็นร่องกว้างแบบกาบหมาก จัดเป็นพระร่วงที่มีความสวยงามอย่างลงตัวแบบพิมพ์หนึ่ง

ลักษณะการแตกรานใต้สนิมแป้ง 

สังเกตได้ว่าการแตกรานเป็นไปอย่างไม่เป็นระเบียบ

                การพิจารณาสภาพพื้นผิวและเนื้อขององค์พระนั้น ไม่ถือว่ายากจนเกินไป หากเข้าใจถึงธรรมชาติของพระเนื้อชินตะกั่วที่มีอายุนานกว่า ๗๐๐ ปี จะพบว่าผิวชั้นนอกที่เห็นมีกรวดขนาดเล็กเกาะกุมบนพื้นสนิมขาวขุ่นเรียกว่า“สนิมแป้ง” เป็นสนิมที่ผุดขึ้นมาจากสนิมไข ใต้สนิมไขถูกคั่นด้วยสนิมแดงเข้มจนเกือบดำ ในพระเก่าที่ได้อายุผิวของสนิมแดงจะเกิดร่องรานอย่างไม่เป็นระเบียบ เนื้อภายในที่เป็นโลหะตะกั่วจะกลายสภาพเป็นสนิมทั้งองค์พระ หากเผลอทำตกลงพื้นแข็ง องค์พระจะแตกกระจายทันที เนื่องจากโมเลกุลภายในเนื้อโลหะได้แยกตัวเป็นอิสระไม่ยึดเกาะกันเหมือนโลหะที่มีอายุน้อย พิจารณาดูภาพประกอบที่นำมาลงไว้จะเข้าใจง่ายขึ้น 



               ในพระร่วงปลอมที่มีระบาดกันอยู่มานานแล้ว แม้จะหล่อจากเนื้อตะกั่วแล้วทำสนิมด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ โดยมากจะใช้มือบิดองค์พระให้มีรอยร่องราน แต่รอยนั้นจะวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน แตกต่างจากพระเก่าอย่างสิ้นเชิงครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น