โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระหลวงพ่อเนียม ๒


พระปิดตาสนิมแดง

หลวงพ่อเนียม วัดน้อย


             พระเครื่องที่สร้างโดยสูตรของหลวงพ่อเนียม วัดน้อย มีส่วนผสมของตะกั่ว ดีบุก และปริมาณปรอทค่อนข้างมาก เมื่อทำการหล่อแบบพิมพ์เสร็จ พระเครื่องที่ได้จะมีปรอทปกคลุมทั่วทั้งองค์พระ หากผู้ได้รับนำไปเก็บรักษาอย่างดีผิวปรอทจะยังคงมีอยู่ตามเดิมแม้จะผ่านเวลามานานกว่า ๑๐๐ ปีก็ตาม แต่หากนำไปใช้บูชาคล้องคอคราบปรอทจะหายไป ผิวองค์พระจะกลายเป็นสีคล้ำเกือบดำ พื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อยจะออกสีเงินยวง  เนื่องจากสมัยก่อนนิยมนำพระมาถักคล้องคอเพื่อให้ผิวองค์พระสัมผัสกับผู้ใช้บูชาโดยตรง


             แต่ยังมีพระเครื่องหลวงพ่อเนียมอีกส่วนหนึ่ง ที่ได้รับการอัญเชิญไปบรรจุไว้ภายในกรุ ด้วยสภาพความร้อนอบอ้าวและชื้น จึงส่งผลให้ปฏิกิริยาทางเคมีในองค์พระเกิดความเปลี่ยนแปลง  โดยผิวขององค์พระจะกลายเป็นสนิมแดง นอกจากนี้ปรอทที่อยู่ภายในเนื้อองค์พระยังขับตัวออกมาภายนอกจนเกิดสนิมแดงปุ่มปมอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นว่าภายในองค์พระมีปริมาณปรอทอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง 


             สำหรับพระปิดตาหลวงพ่อเนียมที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระที่เคยได้รับการอัญเชิญบรรจุภายในกรุ   จึงเกิดสนิมแดงที่ผุดพรายมาจากภายในและส่วนที่เคลือบองค์พระทั้งองค์  มีสนิมไขและสนิมแป้งกระจายเป็นกลุ่ม ปกคลุมด้วยคราบกรุ และราดำอีกชั้นหนึ่ง เหนือราดำยังมีปรอทธรรมชาติแวววาวอยู่ทั่วไป 


            ลักษณะองค์พระ เป็นพระปิดตาคว่ำหน้า วงพระกรซ้ายอยู่สูงกว่าด้านขวา องค์พระประทับนั่งลอยองค์ พระชงฆ์(แข้ง)ขวาพาดเฉียงขึ้นไปใกล้พระกัประ(ข้อศอกซ้าย) จึงทำให้องค์พระโดยรวมมีลักษณะเอียงขวา ด้านหลังองค์พระเป็นแบบเต็มองค์ แตกต่างไปจากพระปิดตาทั่วไปที่นิยมทำเป็นหลังแบบ หลังเรียบ และหลังอูม ด้านข้างองค์พระรอบองค์ปรากฏเส้นขอบซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการหล่อแบบเบ้าประกบ



             พระปิดตา เนื้อชินสนิมแดง ของหลวงพ่อเนียม องค์นี้จึงจัดเป็นพระเครื่องเนื้อโลหะที่ควรค่าต่อการศึกษาถึงกระบวนการสร้าง และปฏิกิริยาทางธรรมชาติที่มีผลต่อพื้นผิวโลหะเป็นอย่างมากครับ.

ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

........จันทร์พลูหลวง............

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น