โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๒๔


สมเด็จอะระหัง
พิมพ์สังฆาฏิ



             พระสมเด็จอะระหัง เป็นพระเนื้อปูนปั้นพิมพ์สี่เหลี่ยมชิ้นฟักสร้างโดยสมเด็จพระอริยวงษญาณ(สุก ญาณสังวร) สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระอริยสงฆ์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ทรงกำชับให้พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าหลานยาเธอทุกพระองค์ต้องไปร่ำเรียนพุทธศาสตร์กับพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นพระอาจารย์สอนวิปัสสนาธุระกับธุดงควัตรให้เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) และเชื่อกันว่าพระเครื่องพิมพ์สมเด็จอะระหัง เป็นต้นแบบที่เจ้าประคุณสมเด็จฯโต นำมาพัฒนาต่อจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือพระสมเด็จฯวัดระฆัง พระสมเด็จฯบางขุนพรหม และพระสมเด็จฯเกศไชโย



              พระสมเด็จฯอะระหัง พิมพ์สังฆาฏิ ที่นำมาลงไว้นี้เป็นหนึ่งในหลายพิมพ์ที่สมเด็จพระสังฆราชสุกได้สร้างไว้หลังจากเสด็จจากวัดราชสิทธารามฯมาประทับยังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ฯ สำหรับรูปแบบพิมพ์ทรง องค์พระประทับนั่งปางสมาธิภายในซุ้มครอบแก้ว พระพัตร์กลมคล้ายผลสมอ พระเกศส่วนโคนคอด ส่วนกลางหนา ปล่อยปลายขึ้นไปชนกับขอบซุ้ม พระกรรณห่างจากพระพักตร์ ด้านขวาองค์พระสูงกว่าด้านซ้าย กลางพระองค์ปรากฏสังฆาฏิพาดเฉียงลงไปยังพระนาภี ฐานทั้ง ๓ ชั้นเรียงตามยาวลดหลั่นกันไป ฐานบนคล้ายหมอนปลายโค้งขึ้นรับกับพระชานุ(เข่า) ฐานกลางเป็นเส้นบางที่สุด ฐานชั้นล่างยาวหนาปลายทั้งสองด้านปาดเฉียงลง เส้นซุ้มจากเส้นฐานและโดยรวมมีขนาดเล็ก ภายนอกเป็นเส้นบังคับพิมพ์สี่เหลี่ยมผืนผ้า การตัดขอบด้านข้างห่างจากเส้นบังคับพิมพ์เล็กน้อย ด้านหลังปรากฏรอยจารอักขระขอม “อะระหัง” อันเป็นสัญลักษณ์ของพิมพ์ทรง


              เนื้อหาโดยรวมออกสีขาวหม่นไปทางเหลือง ผิวด้านบนทาด้วยรักน้ำเกลี้ยงแต่หลุดร่อนออกไปเหลือเพียงบางส่วน เนื้อออกหนึกนุ่มซึ้งตาจากการคลายตัวของน้ำประสานภายใน พื้นผิวภายนอกเห็นเป็นมวลสารสีน้ำตาล สีแดง และสีดำ กระจายอยู่ทั่วทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บางส่วนคล้ายก้อนเนื้อผงสีขาวฝังตัวอยู่ มีเศษซากออแกนิคฝังอยู่ในโพรงขนาดเล็ก ตามเป็นธรรมชาติของพระเนื้อผงที่ผ่านกาลเวลามานานร่วม ๒๐๐ ปี

              สมเด็จฯอะระหัง ของสมเด็จพระสังฆราชสุก จึงเป็นพระเครื่องอีกองค์หนึ่งที่มีผู้ปรารถนาจะครอบครอง ด้วยเหตุผลที่สร้างโดยประมุขสูงสุดแห่งพุทธจักร ทรงเป็นพระอริยสงฆ์ที่เป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๔  และยังทรงเป็นพระอาจารย์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
........จันทร์พลูหลวง............


*********










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น