โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๙


พระสมเด็จฯเกศไชโย พิมพ์เจ็ดชั้น


พระสมเด็จฯเกศไชโย พิมพ์เจ็ดชั้น ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) องค์นี้จัดเป็นพิมพ์นิยมอีกพิมพ์หนึ่ง ทั้งองค์พระ เส้นฐานทั้งเจ็ด เส้นซุ้มครอบแก้ว โดยรวมหนากว่าองค์ที่ลงไว้ใน”พระสมเด็จฯ๕”

พระเกศเป็นแบบบัวตูม พระกรรณ(หู)เป็นวงพระจันทร์ ปลายพระกรรณด้านซ้ายบนต่ำกว่าพระกรรณขวา พระพักตร์กลมมีร่องรอยถูกกดทับเล็กน้อย อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนการตาก หรือถูกวางทับในขั้นตอนบรรจุกรุ  พระอุระนูนเด่น ปล่อยลำพระองค์ลงมาเป็นรากฟันจรดพระหัตถ์ที่วงพระกร(ปลายแขน)วางแนวโค้งลงมาจากพระพาหา(ไหล่,แขน) ซอกพระกัจฉะ(รักแร้) ด้านซ้ายองค์พระแคบกว่าด้านขวา พระเพลาตรงกลางเว้ารับพระหัตถ์และวงพระกร ก่อนขึ้นไปรับพระชานุ(เข่า)ทั้งสองด้าน ที่ด้านซ้ายวางต่ำกว่าด้านขวา


ฐานชั้นที่ ๑ ยาวจรดเส้นซุ้มครอบแก้ว โดยปลายด้านซ้ายวางตรงเรียวแหลมจนชนซุ้ม ส่วนปลายด้านขวาหักลงก่อนไปจรดเส้นซุ้มที่มุมล่าง ฐานทุกชั้นจะลดขนาดความกว้างลดหลั่นกันไปจนถึงฐานชั้นที่ ๑ คล้ายฐานสำเภาปลายมนรับกับพระเพลา ในพิมพ์ทรงนี้เส้นซุ้มครอบแก้วค่อนข้างสมดุลรับเส้นฐานอย่างลงตัว ถัดไปเป็นกรอบบังคับแนวเส้นกรอบมีเฉพาะด้านบนและด้านข้างทั้งสองลงมาชนกับเส้นกรอบล่าง ถัดไปเป็นขอบองค์พระที่ถูกตัดให้ห่างเส้นกรอบตามแบบฉบับพระสมเด็จฯเกศไชโย พื้นผนังภายในซุ้มครอบแก้วต่ำกว่าพื้นกรอบเล็กน้อย


สำหรับเนื้อหามวลสาร และร่องรอยตำหนิธรรมชาติเป็นแบบเดียวกันพระสมเด็จฯวัดระฆัง ต่างกันที่การหดตัวของเนื้อพระมีมากกว่า นอกจากนั้นพื้นผิวโดยรวมที่เห็นเป็นสีคล้ำนั้นไม่ใช่รักน้ำเกลี้ยง หากแต่เกิดจากน้ำมันตังอิ้วที่เป็นส่วนผสมอยู่ภายในองค์พระไหลออกมาอาบตามรอยแตกระแหงระหว่างที่ถูกบรรจุภายในกรุ  ขนาดขององค์พระวัดจากขอบ กว้าง ๒.๕ ซ.ม.สูง ๓.๕ ซ.ม.


ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................


*********

ข้อมูลประกอบบทความ

หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น