โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๑



พระสมเด็จฯสองคลอง
สมเด็จฯวัดระฆังพิมพ์ใหญ่บรรจุกรุวัดบางขุนพรหม



พระสมเด็จฯวัดบางขุนพรหม ถือกำเนิดขึ้นในคราวที่เสมียนตราด้วง(ต้นตระกูลธนโกเศศ) ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)มาแต่เดิม ได้มาบูรณะวัดบางขุนพรหมใน(ภายหลังรู้จักกันในชื่อ วัดใหม่อมตรส) ซึ่งมีสภาพเป็นวัดร้าง และโอกาสเดียวกันได้สร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นพุทธบูชา ภายหลังการสร้างพระเจดีย์แล้วเสร็จ เสมียนตราด้วงจึงอาราธนาต่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้สร้างพระผงสมเด็จฯมาบรรจุไว้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา

หลังจากเจ้าประคุณสมเด็จฯทราบวัตถุประสงค์ของโยมอุปัฏฐากแล้วก็ได้อนุโมทนา ซึ่งขรัวตาคำ แห่งวัดอัมรินทราราม(บางหว้าน้อย)ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“ท่านโตจึงได้เรียกขรัวตาพลอยมาถามว่า พระที่ทำแจกมีเหลือบ้างหรือเปล่า ถ้ามีให้เอาไปบรรจุในเจดีย์ให้หมด ขรัวตาพลอยบอกว่ามีแต่ไม่มาก ท่านโตบอกให้นายด้วงหาเปลือกหอยกาบมามาก ๆ เอามาเผาแล้วตำให้ละเอียดเป็นผงปูนเปลือกหอย แล้วเอาแม่พิมพ์ที่เหลืออยู่จากวัดระฆัง วัดบางขุนพรหมนอก และวัดอื่น ๆมาเพื่อกดพิมพ์ ต่อมาอีกหนึ่งเดือน นายด้วงก็ได้นิมนต์และกราบเรียนว่าของทุกอย่างได้จัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว”


ขรัวตาคำ วัดอินทราราม (บางหว้าน้อย) นั่งอยู่ทางด้านซ้ายเจ้าประคุณสมเด็จฯ

พระเครื่องเนื้อผงตำรับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ที่นำมาบรรจุในพระเจดีย์วัดบางขุนพรหมใน จึงมีพระสมเด็จฯที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างไว้ก่อนหน้านี้ อาทิ พระสมเด็จฯวัดระฆัง พระสมเด็จฯเกศไชโย พระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชา และอื่น ๆอีกเป็นส่วนหนึ่งไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด กับพระที่สร้างขึ้นใหม่โดยใช้เนื้อหลักเป็นเปลือกหอยกาบเผาผสมด้วยมวลสารผงวิเศษ ๕ ประการ ประกอบด้วยผงอิธะเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ และผงตรีนิสิงเห รวมกับมวลสารศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆอีกหลายประการ  ส่วนแม่พิมพ์ก็มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ เพราะรวบรวมมาจากวัดต่าง ๆที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างพระพิมพ์ไว้



ด้านหน้าองค์พระปรากฏคราบกรุปกคลุมรอยคราบน้ำมันตั้งอิ้วที่ระเหิดขึ้นมาจากความร้อนภายในกรุ

จนทำให้องค์พระเปลี่ยนเป็นคราบน้ำตาล แต่ส่วนที่ถูกสัมผัสจะเห็นเนื้อเดิมออกขาวหม่นมีมวลสารกระจายทั่วไป




ด้านหลังองค์พระปรากฏคราบเข้มอ่อนไม่สม่ำเสมอ มีรอยครูดเกิดจากการปาดด้านหลัง

บางแห่งมีหลุมแอ่งเกิดจากการหลุดร่วงและหดตัวของมวลสารตามธรรมชาติที่ผ่านกาลเวลา


การพิจารณาพระสมเด็จฯกรุวัดบางขุนพรหม จึงควรพิจารณาแยกเป็น ๒ ส่วนหลักก่อน คือเป็นพระสมเด็จฯวัดระฆังที่นำมาบรรจุกรุหรือเรียกกันว่า“พระสองคลอง” และเป็นพระสมเด็จฯที่สร้างขึ้นใหม่ในเวลานั้น หากเป็นพระสมเด็จฯวัดระฆัง ให้พิจารณารูปทรงเป็นอย่างวัดระฆัง เนื้อพระจะแกร่งและแข็ง ผิวองค์พระมีคราบอันเกิดจากความร้อนความชื้นภายในองค์พระเจดีย์เคลือบแน่นสนิท ส่วนพระสมเด็จฯที่สร้างขึ้นใหม่เนื้อพระจะฝ่าฟ่ามเปราะ ผิวองค์พระจะถูกความร้อนขับน้ำมันตั้งอิ้วที่เป็นส่วนผสมให้ออกมาเป็นเม็ดผดขนาดเล็กไม่สม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็ถูกคราบกรุปกคลุมซ้อนทับเข้าไปอีกชั้น บางองค์จึงมีลักษณะเป็นฟองเต้าหูอย่างที่นิยมเรียกกัน

พระสมเด็จฯสองคลอง องค์ที่นำมาถ่ายทอดไว้คราวนี้ เป็นพระสมเด็จฯวัดระฆังพิมพ์ใหญ่กรุเก่าที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ให้ขรัวตาพลอยรวบรวมมาเพื่อให้ครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ตามพระธรรมขันธ์ ปัจจุบันพระสมเด็จฯสองคลองไม่ค่อยเป็นที่คุ้นตาเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากส่วนหนึ่งถูกเก็บเข้ากรุของผู้มีฐานะแบบถาวร อีกส่วนถูกนำไปล้างคราบกรุออกตามกระบวนการของแต่ละคนและถูกแลกเปลี่ยนออกไปเป็นสมเด็จฯวัดระฆัง เนื่องจากมีมูลค่าความต้องการสูงกว่านั่นเอง.


สมเด็จฯโต...อริยสงฆ์สยาม
........จันทร์พลูหลวง..........
*********

ข้อมูลประกอบบทความ

-หนังสือ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี):ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามาบารมี”.2554.

2 ความคิดเห็น:

  1. พระทุกแบบที่บรรจุอยู่ภายในกรุเจดีย์วัดบางขุนพรหมก็คือพระที่นำมาจากวัดระฆังทั้งหมดมาใส่ไว้น่นเอง..แต่ภายหลังกรุน้ำท่วมทำให้พระถูกน้ำปูนกัดบางองค์สีเปลี่ยนไปจากเดิมบางองค์เปลี่ยนน้อยหรือไม่เปลี่ยนเลย

    ตอบลบ
  2. พระทุกแบบที่บรรจุอยู่ภายในกรุเจดีย์วัดบางขุนพรหมก็คือพระที่นำมาจากวัดระฆังทั้งหมดมาใส่ไว้น่นเอง..แต่ภายหลังกรุน้ำท่วมทำให้พระถูกน้ำปูนกัดบางองค์สีเปลี่ยนไปจากเดิมบางองค์เปลี่ยนน้อยหรือไม่เปลี่ยนเลย

    ตอบลบ