โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระกำแพง ๑


พระซุ้มกอ กรุทุ่งเศรษฐี


พระซุ้มกอ เป็นพระเครื่องในตระกูลพระกำแพงเพชร มีประวัติความเป็นมาชัดเจนจากต้นทางในจารึกใบเสมา หรือที่เรียกกันว่า จารึกหลักที่ ๓ นครชุม พบที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ระบุข้อความว่า “...พญาลิไท ได้ประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุและได้ปลูกพระศรีมหาโพธิซึ่งได้มาจากลังกาทวีป...”(1) เมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๐๐

ส่วนการพบพระบรมธาตุ และพระเครื่องต่าง ๆภายในบริเวณนี้ ปฐมบทเกิดจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)ขณะมีพระชนม์ได้ ๖๑พรรษา เดินทางมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อปีระกาเอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ ตรงกับปีพ.ศ.๒๓๙๒ ในเอกสารประวัติเจ้าเมืองกำแพงเพชรครั้งรัชกาลที่๑-๕(2) ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ในคราวนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯได้มาร่วมงานปลงศพท่านผู้หญิงแพง ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าของท่าน เสร็จแล้วก็ไปยังที่ต่าง ๆจนถึงวัดเสด็จ  ท่านสังเกตเห็นจอมปลวกอยู่บริเวณมณฑปพระพุทธบาทจึงยืนพิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นจึงสั่งให้คนขุดไปที่จอมปลวกก็พบเสมาจารึก เมื่ออ่านและแปลข้อความจารึกจึงสดับว่ามีพระธาตุอยู่ฝั่งตะวันตก จึงรวบรวมผู้คนถากถางพื้นที่บริเวณดังกล่าวจึงพบซากปรักของพระเจดีย์โบราณ ๓ องค์ ในจำนวนนี้พระเจดีย์องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุด

ในครั้งนั้นกระเหรี่ยงแซงพอหรือพญาตะก่า คหบดีชาวกระเหรี่ยงที่ร่ำรวยจากสัมปทานไม้สักในกำแพงเพชร ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์ทั้งสามองค์ แล้วสร้างพระเจดีย์ทรงมอญองค์ใหญ่ขึ้นแทน แต่ยังไม่แล้วดีก็ถึงแก่กรรมเสียก่อน ต่อมาพะโป้ น้องชายพญาตะก่า ผู้ได้รับผลประโยชน์มากมายจากสัมปทานเช่นกันจึงขอบูรณะต่อจนแล้วเสร็จ


ด้านหน้าพระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก

พระพักตร์กดพิมพ์ติดชัด พระเนตรสองชั้นไม่พบบ่อยนัก

ในการรื้ออิฐเก่าและบูรณะพระเจดีย์ขึ้นใหม่ พบพระบรมธาตุ ในพระเจดีย์องค์กลาง พร้อมพระเครื่องอยู่มากมายทั่วบริเวณ  รวมถึงจารึกลานเงิน ข้อความระบุถึงมูลเหตุการสร้างพระเครื่อง ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงนำตำนานที่นายชิด มหาดเล็กเวร คัดลอกไว้มาลงในเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ มีข้อความว่า

ตำบลเมืองพิษณุโลก  เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัยสงคราม เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณบุรี  ว่ายังมีฤาษี ๑๑ ตน ฤาษีเป็นใหญ่สามตน ตนหนึ่งฤาษีพิลาไลย  ตนหนึ่งฤาษีตาไฟ ตนหนึ่งฤาษีตางัว เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลาย  จึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งนี้ จะเอาอะไรให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้งสาม จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์  ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทอง ไว้ฉะนี้ฉลองพระองค์ จึงทำเป็นเมฆพัด  อุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ พระฤาษี ประดิษฐานในถ้ำเหวน้อยใหญ่ เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลายสมณชีพราหมณาจารย์เจ้าไปถ้วน ๕๐๐๐ พระพรรษา   ฤาษีตนหนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งหลายว่า ท่านจงไปเอาว่านทั้งหลาย อันมีฤทธิ์เอามาได้สัก ๑๐๐๐ เก็บเอาเกสรไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้ ๑๐๐๐  ครั้นเสร็จแล้ว ฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้ช่วยกันบดยาทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง เมฆพัดสถานหนึ่ง  ฤาษีทั้งสามองค์จึงให้ฤาษีทั้งปวง ให้เอาว่านทำเป็นผง เป็นก้อนประดิษฐาน ด้วยมนตร์คาถาทั้งปวงให้ประสิทธิทุกอัน จึงให้ฤาษีทั้งนั้นเอาเกสรและว่านมาประสมกันดี เป็นพระให้ประสิทธิแล้ว  ด้วยเนาวหรคุณ  ประดิษฐานไว้บนเจดีย์อันหนึ่งถ้าผู้ใดถวายพระพรแล้วจึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด  ให้ระลึกถึงคุณพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด”(3)

ด้านหลังเรียบ ปรากฏรอยยุบตามกาลเวลา

ประปรายด้วยราคำและว่านดอกมะขาม


ในจำนวนพระเครื่องที่พบนั้น มีอยู่มากมายหลายพิมพ์ทรง เดิมพิมพ์ลีลา หรือที่เรียกกันว่า กำแพงเม็ดขนุน ได้รับความนิยมมาก ต่อมาเมื่อตรียัมปวาย (พ.อ.(พิเศษ)ประจน กิตติประวัติ) จัดอันดับให้พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี ความนิยมในพระซุ้มกอจึงมีมากกว่าพระลีลาเม็ดขนุน

พระซุ้มกอ และพระกำแพงเพชรแบบพิมพ์ต่าง ๆ ไม่ได้มีเพียงกรุวัดบรมธาตุเท่านั้น หากแต่วัดใกล้เคียงกันในบริเวณที่เรียกว่าทุ่งเศรษฐีก็มีอยู่ด้วยกันหลายวัด ตั้งแต่วัดพระบรมธาตุ วัดหนองพิกุล วัดฤาษี วัดซุ้มกอ วัดบ้านเศรษฐี วัดน้อย วัดหนองลังกา วัดเจดีย์กลางทุ่ง และวัดหัวยาง ทั้ง ๙ วัดนี้ได้รับความนิยมทั้งหมด ด้วยเหตุผลที่อยู่บริเวณแหล่งย่านอันเป็นชื่อมงคล”ทุ่งเศรษฐี” และเป็นสถานที่ที่พบจารึกลานเงินนั่นเอง

คราบกรุและราดำแสดงถึงการไม่ผ่านการใช้

เอกลักษณ์ของพระซุ้มกอ ทุ่งเศรษฐี เป็นพระที่ใช้เนื้อหลักเป็นดินทุ่งเศรษฐี ผสมกับว่านรวมทั้งเกสรมงคลนานัปการ จึงทำให้เนื้อละเอียดนุ่ม ในพระที่ไม่ผ่านการใช้เนื้อจะแห้งสนิทมีราดำเกาะติดทั่วทั้งองค์ โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่ถูกสัมผัสเช่น ตามซอกต่าง ๆ จะเห็นราดำทั่วทุกซอก ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่นำมาพิจารณา ที่สำคัญราดำที่ว่ามองแล้วต้องไม่เป็นปื้น แต่จะเป็นลักษณะจุดเล็ก ๆมาเกาะรวมกันและมีมิติที่สูงกว่าพื้นผิวเล็กน้อย ไม่แนบสนิทเหมือนนำหมึกไปทา หากเนื้อพระสัมผัสกับน้ำจะแห้งอย่างรวดเร็ว และส่งกลิ่นหอมอบอวลอยู่นาน

ซอกพระพาหาลึก การกระจุกและกระจายตัวของราดำมีมิติ ไม่ราบเรียบ

อย่างไรก็ดี หากต้องการเสาะหาพระซุ้มกอไปบูชา ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นพระซุ้มในกรุทุ่งเศรษฐีเพียงอย่างเดียว เพราะนอกกรุทุ่งเศรษฐีที่เรียกว่า กรุเมืองกำแพงเพชร หรือบริเวณฝั่งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ก็มีพระซุ้มกอขึ้นด้วยกันหลายกรุ เช่น วัดพระแก้ว วัดอาวาสใหญ่ วัดอาวาสน้อย วัดช้างล้อม วัดสี่อิริยาบถ วัดช้าง วัดเชิงหวาย วัดกำแพงงาม วัดกะโลทัย วัดพระธาตุ วัดนาคเจ็ดเศียร และวัดพระนอน เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วก็มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการ เพราะเป็นพระที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันนั่นเอง.


ศึกษาอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.....จันทร์พลูหลวง.....
**********


อ้างอิง
(1)จารึกนครชุม.ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร(องค์การมหาชน).
(2)ใบบอกเมืองกำแพงเพชร.http://sunti-apairach.com/06N/06NZX.htm
(3)จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, “เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่5,” D-Library | National Library of Thailand, accessed 27 พฤษภาคม 2018, http://164.115.27.97/digital/items/show/941

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น