โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๗



พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่
พิมพ์เดียวกันต่างที่ต่างการบูชา


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้ม องค์ “พระสมเด็จฯ๗” เป็นพิมพ์เดียวกับองค์ “พระสมเด็จฯ๖” ที่ได้นำมาลงไว้เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๑ จัดเป็นพระพิมพ์เดียวกันและบล็อกแม่พิมพ์เดียวกัน แต่ได้รับการนำไปบูชาต่างสถานที่ ต่างพฤติกรรมการเก็บรักษาจึงทำให้สภาพขององค์พระมีความแตกต่างกัน

องค์”พระสมเด็จฯ๖” เป็นพระที่ผ่านการใช้บูชา เนื้อพระผ่านการทำปฏิกิริยากับอากาศที่มีธาตุหลายชนิดปะปนอยู่ เจ้าของเดิมอาราธนาคล้องคออยู่เป็นประจำ จึงทำให้เหงื่อจากร่างกายซึมผ่านกรอบตลับพระเข้าไป ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้เนื้อพระแข็งแกร่งเกิดความมันวาวดูนุ่มเนียนซึ้งตา  ประกอบกับพระองค์นี้ลงรักปิดทองมาแต่เดิมจึงขับให้องค์พระ ฐาน ซุ้ม และกรอบ ที่มีระดับสูงกว่าพื้นผิวมีความโดดเด่นมากขึ้น



                                    พระสมเด็จฯ๖                      พระสมเด็จฯ๗

ส่วนองค์พระสมเด็จฯ๗เป็นพระที่ไม่ผ่านการใช้บูชา เดิมถูกวางไว้ในพานที่อยู่ในตู้ไม้โบราณในห้องพระ ผ่านกาลเวลามานานโดยที่ทายาทไม่ได้เปิดเข้าไปตรวจสอบแต่อย่างใด จนในปีพ.ศ.๒๕๕๘ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ลูกหลานนึกครึ้มใจอยากสรงน้ำพระที่โต๊ะหมู่บูชาและถือโอกาสเปิดตู้เพื่อทำความสะอาดคราบฝุ่นจึงพบพระองค์นี้โดยบังเอิญ

พระองค์สมเด็จฯ๗เป็นพระที่ถูกตัดขอบพิมพ์กว้างกว่าองค์สมเด็จฯ๖เล็กน้อย กดพิมพ์แน่นกว่า จึงปรากฏทุกส่วนขององค์พระ ฐาน เส้นซุ้ม และกรอบ ชัดเจนกว่า ประกอบกับองค์พระไม่ผ่านการลงรักปิดทองจึงเห็นรายละเอียดทั่วทั้งองค์ นอกจากนั้นการที่องค์พระถูกเก็บนิ่งสนิทอยู่ภายในตู้โบราณมาเป็นเวลานานผ่านสภาพอากาศร้อนและเย็นจึงปรากฏการหดตัวของเนื้อพระโดยเฉพาะบริเวณใต้พระกัจฉะ(รักแร้) วงพระกร (แขน) และขอบซุ้มด้านใน  นอกจากนั้นคราบฝุ่นละอองตามธรรมชาติที่ร่วงหล่นมาเกาะองค์พระซึ่งมีการคลายตัวของน้ำมันตังอิ้วอยู่ คราบฝุ่นจึงฝังติดแนบสนิทจนกลายเป็นผิวพระไปโดยปริยาย

                                พระสมเด็จฯ๖                      พระสมเด็จฯ๗

พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่เกศทะลุซุ้ม ทั้งสององค์นี้ จัดอยู่ในพิมพ์นิยม ผู้สนใจศึกษาอาจพิจารณาเทียบเคียงตำหนิพิมพ์ทรงของพระทั้งสององค์นี้ รวมถึงพระองค์อื่นที่เป็นพิมพ์เดียวกัน ซึ่งมีการเขียนอธิบายไว้อย่างกว้างขวางในเว็ปไซต์ต่าง ๆ ก็จะช่วยให้เข้าใจยิ่งขึ้น

มีข้อแนะนำส่งท้ายเล็กน้อย สำหรับผู้ที่นิยมห้อยบูชาพระเนื้อผงอยู่เป็นประจำ ควรนำองค์พระออกจากตลับบ้าง เพื่อให้ไอเหงื่อที่แทรกตัวอยู่ในองค์พระได้มีโอกาสระบายออกบ้าง แล้วปัดคราบเกลือด้วยวัสดุอ่อน ๆออกไป พร้อมกับเปลี่ยนฟองน้ำใหม่ เพราะการแทรกซึมของเหงื่อในองค์พระหากมีมากเกินไปจะทำให้องค์พระปริชำรุด และฟองน้ำเก่าที่ใช้ไปนาน ๆจะแข็งตัว มีผลต่อการสึกกร่อนขององค์พระโดยเฉพาะด้านข้าง...สมเด็จฯวัดระฆังหายาก...มีโอกาสครอบครองก็ต้องรู้จักการทะนุถนอมด้วยครับ.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................


*********

ข้อมูลประกอบบทความ

หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น