โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๑๐


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์เจดีย์(ใหญ่)


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ มีอยู่ด้วยกันหลายขนาดพิมพ์ทรง ปรมาจารย์ตรียัมปวายกำหนดแบบกว้าง ๆไว้เป็นขนาด “เขื่อง ย่อม สันทัด ชะลูด” โดยแต่ละขนาดก็มีรายละเอียดแยกย่อยกันไป เพราะต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า พระสมเด็จฯวัดระฆังผ่านการสร้างมานานกว่าร้อยปี การสร้างแต่ละครั้งมีมวลสารแตกต่างกัน ทั้งความเหลวของเนื้อพระก่อนนำลงไปกดในแบบพิมพ์ ตลอดจนการตาก และการเก็บรักษาของผู้ที่ครอบครองอยู่ จึงมีผลอย่างมากต่อพระสมเด็จฯแต่ละองค์ จะเห็นได้ว่าบางกรณีพระสมเด็จฯ ๒ องค์ สร้างในวาระเดียวกัน แต่เมื่อผ่านมาถึงปัจจุบันก็ยังมีความแตกต่างให้เห็น


สำหรับพระสมเด็จฯ วัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ องค์ที่นำมาลงนี้ เป็นพิมพ์ทรงใหญ่ มีสัดส่วนลงตัว ตั้งแต่การตัดกรอบด้านข้างตามแนวเส้นบังคับพิมพ์ที่ลากตรงจากด้านบนลงมาจรดขอบล่าง เส้นฐานของซุ้มครอบแก้ววางขนานเส้นบังคับพิมพ์ล่าง เส้นซุ้มด้านขวาองค์พระตั้งชันกว่าด้านซ้าย

ฐานชั้นที่ ๑ เป็นฐานหมอน ปลายทั้งสองด้านเป็นแนวเฉียงขึ้นไปรับฐานชั้นที่ ๒ ที่เป็นแบบขาโต๊ะหรือคมขวานฐานสิงห์ ในฐานนี้ปลายทั้งสองด้านหนาเห็นขารำไรแล้วค่อย ๆลดขนาดลงไปในกลางฐาน จัดเป็นฐานขนาดบางที่สุด เหนือขึ้นไปเป็นฐานที่ ๓ หนากว่าฐานที่๒ ปลายทั้งสองด้านโค้งขึ้นรับกับแนวพระเพลา (ตัก)

ส่วนของพระเพลา (ตัก) ด้านข้างทั้งสอง บริเวณพระชานุ(เข่า)โค้งมน ด้านขวากว้างกว่าด้านซ้าย ส่วนกลางด้านบนของพระเพลาเว้าลงปรากฏพระบาท(เท้า)ขวาวางบนพระชานุซ้ายลาง ๆ  เหนือขึ้นไปเป็นพระหัตถ์(มือ)และวงพระกร(แขน)ห่างพระเพลาเล็กน้อย วางวงโค้งแบบตัวยูขึ้นไปรับพระอังสา(บ่า,ไหล่)อย่างสมดุล

พระอุระ(อก)กว้าง ค่อย ๆสอบลงมา โดยมีเส้นสังฆาฏิวางเฉียงลงมาจากพระอังสาซ้าย แล้วปล่อยชายลงมาเป็นสองเส้นจรดพระพระหัตถ์ พระกฤษฎี(เอว)ผายทั้งสองด้าน พระกัจฉะ(รักแร้)ด้านซ้ายแคบกว่าด้านขวา ในแบบพิมพ์ทรงนี้ ไม่ปรากฏลำพระศอ(คอ) พระพักตร์กลมมนปรากฏพระกรรณ(หู) ด้านซ้ายแนบพระปราง(แก้ม) พระเกศขึ้นเป็นเส้นตรงก่อนสะบัดปลายไปทางซ้ายชนกับซุ้ม  พื้นผนังภายในซุ้มเป็นระดับสูงต่ำไม่สม่ำเสมอ แต่ต่ำกว่าพื้นด้านนอก


ด้านหลังองค์พระ ปาดเรียบ พบรอยปาด รอยครูด การหดตัวของมวลสาร และหลุมแอ่งครบถ้วน เนื้อหามวลสารแก่ปูน แต่มีส่วนผสมมวลสารหลากหลาย รวมถึงชิ้นส่วนของพระแตกหักป่นผสมลงไป

พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์องค์นี้ผ่านการลงรักน้ำเกลี้ยงเป็นรักจีนออกสีน้ำตาลเข้ม  เมื่อผ่านเวลามานานส่วนที่สูงกว่าผิวพื้นถูกสัมผัส ทำให้เห็นเป็นเนื้อขาวหม่นนุ่มขององค์พระตัดกับสีรักจนดูเด่น จัดเป็นพระสมเด็จฯวัดระฆังอีกองค์หนึ่ง ที่มีความสมบูรณ์ทั้งรูปแบบ เนื้อหา และพิมพ์ทรง.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********

ข้อมูลประกอบบทความ
-หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น