โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๕


พระสมเด็จฯเกศไชโย




พระเครื่องที่สร้างโดย เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ได้รับการยอมรับมีอยู่ด้วยกัน ๓ แห่ง คือ พระสมเด็จฯวัดระฆังโฆสิตาราม ฝั่งธนบุรี พระสมเด็จฯวัดบางขุนพรหมใน(วัดใหม่อมตรส) ฝั่งพระนคร และสมเด็จฯวัดไชโยวรวิหาร เมืองอ่างทอง

พระสมเด็จฯวัดไชโย หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “สมเด็จเกศไชโย” แรกเริ่มเดิมทีมีการสร้างในระหว่างปีพ.ศ.๒๓๕๖-๒๓๖๐ เป็นแบบพิมพ์ที่แกะจากกลุ่มช่างอ่างทอง และกลุ่มช่างอู่ต่อเรือบางขุนพรหมนอก  ขณะที่เจ้าประคุณสมเด็จฯยังเป็น”พระมหาโต” แบบพิมพ์มีความสวยงามมากบ้างน้อยบ้าง แต่จัดว่าเป็นพระสมเด็จฯเกศไชโยยุคแรก

ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๐๓ สมัยล่าอาณานิคม ฝรั่งเศสยึดครองไซ่ง่อนและโคชินไชน่า(ญวนใต้/Cochin-Chaina)และกำลังเตรียมแผนการที่จะยึดครองเขมรซึ่งอยู่ในความปกครองของราชอาณาจักรสยาม สถานการณ์ในเวลานั้น สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี(นักองด้วง)กษัตริย์เขมรทรงว้าวุ่นพระทัยมาก ด้วยมีใจสัมพันธ์ต่อสยามมาแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงอาราธนาให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ(โต) เดินทางไปเทศนาธรรมเพื่อให้นักองด้วงและข้าราชบริพารราชสำนักเขมรคลายความกังวลลงไปได้บ้าง ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ฝรั่งเศสเห็นว่าสยามกับเขมรเป็นแผ่นดินเดียวกันทั้งผืนดินที่ติดต่อกันและเลื่อมใสนับถือในศาสนาเดียวกัน

ภาพเขียนเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ที่ผนังพระอุโบสถวัดอินทรวิหาร
จากหนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี):ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี

การไปของเจ้าประคุณสมเด็จฯ(โต)ในคราวนั้น ได้สร้างความอิ่มเอมพระทัยต่อกษัตริย์เขมรเป็นอันมาก ทั้งได้ถวายกัณฑ์เทศ ถวายราชโอรสราชธิดา กับสิ่งของมีค่ามาพร้อมกัน ทำให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างมาก และทรงปวารณาพระองค์ว่า หากเจ้าประคุณสมเด็จฯต้องการสิ่งใดก็จะทรงเป็นธุระให้

ในคราวนั้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ(โต) จึงขอพระบรมราชานุญาตให้มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก ๘ วา ลงบนที่ดินวัดไชโย เมืองอ่างทอง พร้อมเขตอุปาจาร ซึ่งพระองค์ก็ทรงโปรดเกล้าฯให้ใบพระบรมราชานุญาตประทับตราแผ่นดินตามลำดับ

การสร้างพระใหญ่และพระอารามในคราวนั้นใช้เวลาอยู่ ๓ ปี เสร็จสิ้นในปีพ.ศ.๒๔๐๖ ในการนี้พระสมเด็จฯเกศไชโย มีการจัดสร้างขึ้นโดยกลุ่มช่าง ๑๐ หมู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม มีอยู่ด้วยกัน ๓ พิมพ์ทรง คือพิมพ์เจ็ดชั้น พิมพ์หกชั้นอกตัน และพิมพ์หกชั้นอกร่อง เมื่อสร้างแล้วเสร็จเจ้าพนักงานจึงลำเลียงลงเรือมายังวัดไชโย

มีเรื่องเล่าถึงการบรรจุกรุในครั้งนี้ว่า “ขรัวตาทองวัดเกตุไชโยว่า เคยเห็นเจ้าประคุณสมเด็จฯโต ฝังตุ่มใบใหญ่ไว้เหนือองค์พระ(พระมหาพุทธพิมพ์) แล้วเอาเงินใส่ไว้ ๑ บาทปิดทับด้วยกระเบื้องหน้าวัว หลังจากเสร็จสิ้นการสร้างแล้ว เจ้าประคุณสมด็จฯโต ได้จัดงานทำบุญเลี้ยงพระบนศาลา”

พระสมเด็จฯเกศไชโย ที่สร้างในปีพ.ศ.๒๔๐๖ นี้ มีทั้งที่บรรจุอยู่ในองค์พระมหาพุทธพิมพ์ และไม่ได้บรรจุแยกไว้แจกจ่ายญาติโยม และอีกส่วนหนึ่งพบว่ามีการนำไปบรรจุในกรุวัดบางขุนพรหมในช่วงปีพ.ศ.๒๔๑๓


สำหรับพระสมเด็จฯเกศไชโย ที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพิมพ์ทรงเจ็ดชั้นนิยม  สร้างขึ้นตามตำรับเดียวกับพระสมเด็จฯวัดระฆัง มีเนื้อปูนเพชรเป็นหลัก ผสมด้วยผงวิเศษ ๕ ประการ และส่วนผสมอันเป็นมวลสารมงคลตามสูตรการสร้างของเจ้าประคุณสมเด็จฯ องค์พระปฏิมาตั้งแต่พระเพลา(ตัก)ขึ้นไปถึงวงพระพักตร์ออกแบบเป็นเส้นเรียวเล็กคล้ายปางพุทธทรมาน ปรากฏลำพระศอขึ้นไปจากพระอุระ พระพักตร์เล็กกลมคล้ายเข็มหมุด พระกรรณทั้งสองข้างเป็นโค้งวงพระจันทร์ ห่างจากพระพักตร์ทั้งสองด้าน เหนือขึ้นไปเป็นพระเกศโคนคอดก่อนจะค่อย ๆขยายคล้ายเปลวเพลิงด้านบนไปจรดเส้นซุ้ม

ฐานพระทั้งเจ็ดชั้นเป็นเส้นเรียวเล็ก ปลายทั้งสองด้านเรียวแหลม ขนาดความกว้างของฐานชั้นที่ ๗ เท่ากับความกว้างของพระเพลา ก่อนจะค่อย ๆขยายให้กว้างขึ้นมาถึงชั้นที่ ๑ ซึ่งในชั้นนี้ปลายฐานทั้งสองด้านเหยียดเป็นเส้นตรงปลายแหลมชนกับซุ้มครอบแก้ว ส่วนที่เป็นซุ้มครอบแก้ว เส้นยืนทั้งสองด้านตั้งจากเส้นกรอบล่างขึ้นเป็นเส้นตรงใกล้เคียงกันก่อนจะโค้งจนไปบรรจบกันตรงกันกลางพระเกศ

นอกซุ้มครอบแก้ว ปรากฏเส้นบังคับพิมพ์เป็นกรอบสี่เหลี่ยม แต่ช่างผู้ทำปล่อยให้เส้นกรอบนี้อยู่ตามเดิม แล้วขยับห่างออกไปอีกเล็กน้อยก่อนจะตัดเป็นกรอบนอกอีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ในระหว่างที่นำพระออกจากแม่พิมพ์ใหม่ ๆ ก็ใช้นิ้วมือลูบเหลี่ยมทุกด้านให้โค้งมนรับกันทั้งสี่มุม ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระสมเด็จฯเกศไชโย


ด้านเนื้อหามวลสารของพระสมเด็จฯเกศไชโย  หากเป็นพระที่ไม่ผ่านการลงกรุ เนื้อพระจะเหมือนพระสมเด็จฯวัดระฆังทุกประการ มีรอยแตกลาน มีการระเหิดของน้ำมันตังอิ้วออกมาตามร่อง และเคลือบบาง ๆคล้ายฟิล์มในองค์พระที่ไม่ผ่านการใช้  ส่วนองค์พระที่ผ่านการบรรจุกรุจะคล้ายพระสมเด็จฯวัดระฆังที่นำไปบรรจุกรุวัดบางขุนพรหม(พระสองคลอง) คือมีเนื้อหนึกนุ่มอยู่ภายในและมีคราบติดแนบสนิทตามผิวพระมากบ้างน้อยบ้าง

ข้อสำคัญที่ควรพิจารณา องค์ที่ผ่านกาลเวลามากว่า ๑๐๐ ปี เนื้อพระต้องมีการหดตัวทั้งเส้นซุ้ม เส้นฐาน และองค์พระ บางตำแหน่งโดยเฉพาะด้านในใต้พระพาหา(ตั้งแต่ไหล่ลงมาแขน)ในพระบางองค์มีการหดตัวจนเนื้อพระม้วนเข้าไปด้านใน อันเป็นการยืนยันถึงองค์ที่ผ่านการสร้างมานานอีกทางหนึ่ง

ส่วนทางด้านหลัง มีลักษณะการหดตัวตามร่องรอยที่ยุบตัวบ้าง ตามรอยครูดบ้าง แต่เท่าที่สังเกตลักษณะด้านหลังพระสมเด็จฯเกศไชโย ส่วนใหญ่จะยุบตัวลงเป็นแอ่งตื้น ๆ ขอบทั้งสี่ด้านจะสูงกว่าเล็กน้อย

ว่ากันว่า การศึกษาพระเครื่องที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) นอกจากจะหมั่นหาความรู้อย่างสม่ำเสมอแล้ว การทำสมาธิ และสวดพระคาถาชินบัญชรเป็นประจำ ก็จะเป็นพลังหนุนนำให้มีโอกาสครอบครองด้วยอีกทางหนึ่ง.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********

ข้อมูลประกอบบทความ

หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น