โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๘


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่


พระสมเด็จฯเนื้อผงวิเศษ ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) มีการสร้างหลายวาระหลายโอกาส เนื้อหามวลสารอาจมีความแตกต่างกันบ้าง แต่สิ่งที่ต้องมีทุกครั้งคือผงวิเศษ ๕ ประการ ถือเป็นสูตรการสร้างสำคัญของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ส่วนด้านรูปแบบพิมพ์ทรงนั้นมีทั้งช่วงหลวงและช่างราษฎร์ ที่ส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่เป็นผู้นับถือศรัทธาเจ้าพระคุณสมเด็จฯด้วยกันทุกคน


มีเรื่องล่าบอกต่อกันมาผ่านบันทึกต่าง ๆที่ถูกนำมาตีพิมพ์ตรงกันอยู่เรื่องหนึ่งว่า วัตรปฏิบัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ คือการบิณฑบาตโปรดญาติโยมอยู่เป็นประจำทั้งทางบกและทางน้ำ เมื่อญาติโยมถวายภัตตาหารใส่บาตรเรียบร้อยแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯมักให้พรแล้วแจกพระสมเด็จฯให้ไป ส่วนหนึ่งเป็นพระที่ทำสำเร็จแล้วเป็นองค์เดี่ยว บางส่วนเป็นพระสมเด็จฯที่ทำเป็นแม่พิมพ์เรียงติดกันหลายองค์ เมื่อนำออกจากแม่พิมพ์แล้วพระจะติดเรียงกันเป็นแถว และมีร่องระหว่างองค์ไปในตัว เมื่อพระถูกตากจนแห้งสนิทก็จะได้พระเป็นแถวยาว หลังผ่านการปลุกเสกแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯจึงนำติดย่ามไปแล้วแจกให้ญาติโยมด้วยการหักออกทีละองค์


พระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่ทำจากขั้นตอนนี้ จะสังเกตได้จากด้านข้างมีรอยหักไม่เรียบร้อยเหมือนการตัดขอบพระทีละองค์แบบทั่วไป แต่ก็กลายเป็นลักษณะเด่นของพระสมเด็จฯวัดระฆังไปอีกแบบหนึ่ง

พระองค์ที่นำมาลงนี้ เป็นพระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่ด้านหักมีร่องรอยคล้ายการหักออกระหว่างองค์ เป็นแบบพิมพ์ทรงใหญ่ มีเส้นบังคับพิมพ์ตามแบบพิมพ์นิยม แต่ศิลปะการแกะแบบพิมพ์ค่อนข้างตื้น ซุ้มครอบแก้วค่อนข้างบาง เข้าใจว่าเป็นช่างราษฎร์หรือบรรดาชาวบ้านที่เป็นลูกศิษย์เจ้าประคุณสมเด็จฯที่คอยแวะเวียนมาช่วยงานที่วัดระฆังกันอยู่เป็นประจำ แต่สิ่งที่บ่งชี้ถึงความเป็นสมเด็จฯวัดระฆังคือเนื้อหามวลสารที่มีอยู่อย่างครบครัน ทั้งการกระจายตัวของเกสรดอกไม้ที่เมื่อผ่านกาลเวลาเกสรจะหดตัวทำให้พื้นผิวกลายเป็นหลุมเล็กหลุมน้อย บางส่วนเห็นปากหลุมเล็กน้อยแต่ภายในเป็นโพรงยังมีเศษเกสรคาอยู่ไม่หลุดร่วงออกมาก็มีอยู่มาก  นอกจากนั้นร่องรอยการหดตัวที่เรียกว่า ปูไต่ หนอนด้น รากผักชี และหลุมแอ่งขนาดเล็กใหญ่ก็มีอยู่ครบถ้วน


พิมพ์ทรงของสมเด็จฯวัดระฆังนี้ มีผู้ครอบครองกันอย่างแพร่หลาย บางท่านว่าเป็นสมเด็จฯวัดระฆัง และบางท่านว่าเป็นสมเด็จฯบางขุนพรหม(วัดใหม่อมตรส) ซึ่งจากที่เห็นผ่านตามา พบว่าพระสมเด็จฯวัดระฆังพิมพ์ทรงนี้ มีทั้งของวัดระฆัง และของวัดบางขุนพรหม เข้าใจว่าแรกเริ่มเดิมที เป็นพระที่สร้างจากวัดระฆัง แต่ในขณะที่เสมียนตราด้วง ผู้เป็นโยมอุปัฏฐาก ของเจ้าประคุณสมเด็จฯมาบูรณะวัดบางขุนพรหม เจ้าประคุณสมเด็จฯได้ให้ขรัวตาพลอย รวบรวมพระสมเด็จฯวัดระฆังที่มีอยู่ขณะนั้นนำมารวมกับพระที่สร้างขึ้นใหม่ให้ครบ ๘๔,๐๐๐ องค์เท่าพระธรรมขันธ์ แล้วบรรจุลงในพระเจดีย์ที่เสมียนตราด้วงทำการบูรณะ



การพิจารณาให้ดูที่คราบกรุเป็นสำคัญ หากองค์พระสะอาดหนึกนุ่มก็เป็นของวัดระฆัง ส่วนองค์ที่มีคราบกรุทั้งที่เป็นคราบฝ้าละอองติดฝังแน่นและคราบดินโคลนที่เกิดจากคราวน้ำท่วม และคราบปูดแบบฟองเต้าหู้ ก็จะเป็นกรุบางขุนพรหม ที่เรียกว่า”พระสองคลอง”นั่นเอง.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................


*********

ข้อมูลประกอบบทความ

หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น