โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๑๑


พระสมเด็จฯวัดระฆัง 
พิมพ์เจดีย์เล็ก


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์เล็ก บางทีเรียก พิมพ์โย้ หรือชะลูด โดยรวมองค์พระที่เป็นสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก มีขนาดใกล้เคียงกับพิมพ์อื่น ๆ แต่อาจแตกต่างกันเล็กน้อยตามการตัดขอบของผู้ทำที่มาช่วยเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)

มีเรื่องเล่าจากบันทึกของขรัวตาคำ เจ้าอาวาสวัดบางหว้าน้อย(ปัจจุบันคือวัดอมรินทรารามวรวิหาร) ว่าในทุกคราวที่มีการสร้างพระ ชาวบ้านในละแวกกลุ่มต่าง ๆจะนัดแนะมาช่วยกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ใครรับหน้าที่อะไรก็ทำกันไปตามนั้น ตั้งแต่เตรียมอุปกรณ์  โขลกปูน กดพิมพ์องค์พระ จนไปถึงวางเรียงตาก ในขั้นตอนการโขลกปูนเมื่อละเอียดได้ที่แล้ว เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะนำผงวิเศษและมวลสารต่าง ๆใส่ผสมลงไป 

ขรัวตาคำเล่าว่า ส่วนมากพวกกลุ่มผู้หญิงจะทำได้ละเอียดประณีตกว่า ส่วนพวกผู้ชายนอกจากมาช่วยงานวัดแล้ว การเฝ้าคอยเกี้ยวพาราสีสาวต่างบ้านดูจะเป็นงานหลักกว่าด้วยซ้ำ งานจึงออกมาหยาบ ๆ เพราะคอยแต่โขลกไปเกี้ยวไป  อาจเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง  เนื้อของพระสมเด็จฯวัดระฆัง จึงมีทั้งหยาบและละเอียดแตกต่างกันไป หรือบางทีช่วงตัดขอบพระตาก็คอยชำเลืองสาว ขอบพระบางองค์จึงชิดบ้าง ห่างบ้าง เฉียงบ้าง แต่ก็นับเป็นสีสันของบรรยากาศเมื่อกว่าร้อยปีก่อน


สำหรับพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์เล็ก หรือชะลูดนี้ เป็นอีกแบบพิมพ์ทรงหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้พิมพ์อื่น ด้วยมีเอกลักษณ์ที่ดูแล้วบอบบางองค์พระมีขนาดเล็กน่ารัก เพราะได้รับการออกแบบให้องค์พระประทับนั่งแบบเอียงพระกฤษฎี(เอว)ไปทางซ้ายเล็กน้อย รับกับพระพักตร์(หน้า)ที่เอียงตามเล็กน้อยเช่นกัน

โดยรวมของพระสมเด็จฯพิมพ์นี้ พระเกศขึ้นตรงจากพระเศียรกลางเส้นพระเกศปรากฏปมเล็ก ๆก่อนวิ่งตรงสะบัดปลายไปชนเส้นซุ้ม วงพระพักตร์กลมรูปไข่ติดพระกรรณ(หู)ด้านซ้ายลาง ๆ  ใต้พระหนุ(คาง)ปรากฏพระศอ(คอ)แผ่วบางก่อนลงไปรับกับส่วนกลาง พระอุระกว้างสอบลงไปยังพระอุทร(ท้อง) เส้นสังฆาฏิพาดเฉียงจากพระอังสาซ้ายมาถึงพระอุระ(อก)แล้วลงเป็นแนวตรงสองเส้น พระอังสาทั้งสองด้านหลุบลงรับกับวงพระกร(แขน)ที่แลดูหุบเข้าเล็กน้อย ก่อนที่ข้อพระหัตถ์(มือ)จะชนกันตรงกึ่งกลาง วงพระกรด้านขวาเป็นแนวโค้งกว่าด้านซ้าย ซอกพระกัจฉะ(รักแร้)ด้านซ้ายแคบกว่าด้านขวา

พระเพลา(ตัก)แบบวางพระบาท(เท้า)ขวาทับพระชานุ(ข่า)ซ้ายเห็นเป็นเส้นวางซ้อนชัดเจน  พระชานุด้านขวาโค้งมน ส่วนด้านซ้ายเรียวแคบกว่า ล่างลงไปเป็นฐานชั้นที่ ๓ วางรับกับพระเพลา ปลายฐานด้านซ้ายอยู่ห่างกว่าด้านขวา ฐานชั้นที่ ๒ วางเป็นเส้นตรงขนาดบางกว่า ด้านขวาปรากฏขาโต๊ะ ฐานชั้นที่ ๑ ใหญ่หนากว่าทุกฐานปลายทั้งสองด้านปาดเฉียง แนวเส้นฐานไม่ตรงเสียทีเดียวแต่โค้งเว้าคล้ายลอนคลื่น


ฐานขอบซุ้มวางเป็นเส้นตรง ส่วนเส้นตั้งด้านขวาวางเอียงขึ้นไปรับซุ้มครอบแก้ว ก่อนจะวิ่งลงเป็นแนวชันกว่า ส่วนเส้นบังคับพิมพ์ด้านบนทั้งสองวิ่งลงมาชนกับเส้นฐานซุ้มครอบแก้วแล้วเลยลงไปจรดเส้นฐานบังคับพิมพ์ด้านล่างอีกชั้นหนึ่ง สำหรับพื้นผนัง โดยรวมด้านในซุ้มสูงกว่าด้านนอกเล็กน้อย

พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์เล็ก แม้ภายนอกมีขนาดเท่ากับพิมพ์อื่น แต่ด้วยรูปทรงองค์พระตั้งแต่พระเกศลงมาถึงพระเพลา เส้นฐาน และเส้นซุ้ม แลดูอ่อนช้อยเป็นธรรมชาติอย่างลงตัว จึงไม่เป็นการแปลกอันใดที่ได้รับความนิยมอีกพิมพ์หนึ่ง .



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********

ข้อมูลประกอบบทความ
-หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น