โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๓


สมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เกศทะลุซุ้ม




พระเครื่องของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) มีการสร้างตลอดเวลา บันทึกในอดีตบอกว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯใช้เวลาในการทำผงวิเศษ ๕ ประการแต่ละครั้งนานนับไตรมาส แล้วให้ศิษย์หรือชาวบ้านในละแวกที่ผลัดเปลี่ยนกันมาโขลกส่วนผสมต่าง ๆในครก แต่ละครั้งเนื้อหลักอาจไม่เหมือนกัน เช่นบางครั้งใช้ปูนเพชรที่มากับสำเภาจีน บางครั้งใช้ปูนขาวที่ผ่านการเผาจากก้อนหิน หรือในกรณีพระสมเด็จฯกรุบางขุนพรหมก็ใช้ปูนขาวที่เผาจากเปลือกหอยกาบ ไม่แน่นอน อยู่ที่ในเวลานั้นวัตถุดิบหลักมีชนิดใดอยู่มาก

ในขั้นตอนการทำเป็นองค์พระ วัตถุดิบหลักต้องผ่านการหมักให้เนื้อประสานเข้าที่ก่อน แล้วนำมาโขลกซ้ำ ระหว่างนั้นเจ้าประคุณสมเด็จฯจะนำผงวิเศษ ๕ ประการ โรยผสมลงไป พร้อมกับส่วนผสมที่เป็นมงคลอีกมากมาย ตามกระบวนการสูตรการสร้างที่มีมาแต่โบราณอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ส่วนผสมที่ผ่านการโขลกแล้วจะถูกนำออกมานวดกับน้ำมันตังอิ้ว เพื่อให้เหนียวจับตัวเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นจึงนำไปกดในแม่พิมพ์ แล้วจัดเรียงลงในกระด้งหรือสาด ก่อนนำไปตากลมเป็นขั้นตอนต่อไป


ภาพเขียนโบราณ โดย พระยาจิตรมนตรี จารึกว่า
“ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี วัดระฆัง 
เขียนใว้วัน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม จ.ศ.๑๒๓๓ ประเทศสยาม”
ขอขอบคุณ...Boonta Ancient เอื้อเฟื้อภาพประกอบ. 

การตากนับว่ามีส่วนสำคัญไม่แพ้ขั้นตอนอื่น  เนื้อพระจะแห้งมากน้อยก็อยู่ที่ขั้นตอนนี้ บางครั้งกระด้งหรือสาดที่เรียงอยู่ใต้ชายคาอาจถูกแดดไล่ แล้วเก็บไม่ทันเนื้อองค์พระก็จะแห้งมาก หรือบางครั้งคนจัดเรียงองค์พระลงในกระด้งวางผิดเอาด้านหน้าคว่ำลง บริเวณที่เป็นความสูงของหน้าพระก็จะยุบแบนลงไป ทั้งการเก็บและนำมาตากใหม่ในวันรุ่งขึ้นก็อาจกระแทกกระทั้นบ้าง เราจึงเห็นพระสมเด็จฯบางองค์มีรอยบิ่นรอยหักมาแต่เดิม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะหากมีใครได้มีโอกาสครอบครองพระสมเด็จฯที่มาจากการสร้างของเจ้าประคุณสมเด็จฯก็คงไม่คิดมากว่าจะบิ่นหรือชำรุดอยู่บ้าง เว้นแต่กลุ่มที่นิยมแลกเปลี่ยนกันเฉพาะพระสวยงามก็ว่ากันไปอีกทางหนึ่ง



สมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เกศทะลุซุ้มองค์นี้ 
มีคราบฝุ่นเกาะติดฝังแน่นเพราะถูกเคลือบทับด้วยน้ำมันที่ระเหิดออกมา 
แต่จัดเป็นพระสมเด็จฯที่เจ้าของเก็บรักษามาอย่างดีแบบสัมผัสน้อยมาก 
เมื่อรวมกับรอยแตกระแหงและรอยรานขนาดเล็กบริเวณพระอุระ(อก) ทำให้แลดูมีเสน่ห์ลึกซึ้งยิ่งขึ้น


ด้านหลังองค์พระ แสดงถึงการหดตัวเป็นริ้วเส้นของขอบ
อันเป็นลักษณะสำคัญในการพิจารณาธรรมชาติของพระผงที่มีอายุกว่า ๑๕๐ ปี 
รอยรานทั่วบริเวณแตกเป็นรานใหญ่และเล็ก 
เมื่อรวมกับคราบน้ำมันที่ออกมาเคลือบผิวอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ดูสวยงามเป็นธรรมชาติ

สำหรับพระสมเด็จฯวัดระฆัง องค์ที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระสมเด็จฯพิมพ์ใหญ่ แบบเกศทะลุซุ้ม พระองค์นี้ที่เห็นเป็นคราบอาบทั่วองค์ ไม่ใช่เกิดจากการทารักน้ำเกลี้ยงลงไปแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากน้ำมันตังอิ้วที่เป็นส่วนผสมยึดเกาะเนื้อผงให้เป็นเนื้อเดียวกันระเหิดออกมา ตามช่องทางที่เป็นรอยราน อันเกิดจากกระบวนการตากลมที่มีมาแต่ต้นทาง รอยรานแบบนี้ความเป็นจริงเรียก “รอยแตกระแหง” แต่บางทีก็เรียกเพี้ยนกันว่า “แตกลายงา”

รอยรานนี้จะเป็นช่องทางที่น้ำมันตังอิ้วดันตัวออกมา จะมากน้อยขึ้นอยู่กับการเก็บรักษา พระสมเด็จฯบางองค์ถูกเก็บรักษาไว้กล่องอับมิดชิดแต่ร้อนอบอ้าว น้ำมันจะคลายตัวออกมามาก ในบางองค์เคยพบมีน้ำมันไหลขึ้นมาอาบทั้งองค์พระกลายเป็นพระบรรจุกรุไปเลยก็มี  แต่ในบางองค์แม้จะเก็บรักษาไว้อย่างมิดชิดแต่อากาศโดยรอบถ่ายเทได้ดีน้ำมันถูกดันตัวออกมาน้อย ผิวพระแบบนี้จะค่อนข้างสวยงาม ขณะที่บางองค์อาจวางลืมไว้บนหิ้งพระหรือในที่ที่ฝุ่นละอองปลิวมาเกาะเมื่อความร้อนในสภาพแวดล้อมสูงขึ้นก็จะถูกน้ำมันตังอิ้วขับออกมาเคลือบคราบฝุ่นไปพร้อมกัน ผิวพระจึงมีคราบฝังอยู่ภายใน

เล็ก ๆน้อย ๆเรียงร้อยเล่าสู่กัน เผื่อไม่แน่สักวัน คนที่มีความฝันอยากได้พระสมเด็จฯวัดระฆังครอบครอง อาจใช้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ไปประกอบการพิจารณา จนความฝันที่ว่ากลายเป็นความจริง..ก็เป็นได้.



ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.........จันทร์พลูหลวง............

*********

ข้อมูลประกอบบทความ

-หนังสือ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น