โพสต์แนะนำ

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๑๕


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม


ในบรรดาพระสมเด็จฯวัดระฆัง ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) พระพิมพ์เกศบัวตูม จัดเป็นพิมพ์หนึ่งที่อยู่ในความนิยม ด้วยพุทธปฏิมาที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัว และเป็นพระที่หายาก ทำให้เป็นที่เสาะแสวงหาด้วยมูลค่าการแลกเปลี่ยนที่สูงแซงกว่าหน้าพิมพ์อื่น ๆ

เอกลักษณ์ของพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม อยู่ที่วงพระพักตร์(หน้า)กลมมนรูปไข่นูนเด่นปรากฏพระนาสิก(จมูก)รำไร เหนือพระนลาฏ(หน้าผาก)เป็นพระเมาลี(มวยผม)ต่อด้วยพระเกศรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ พระกรรณ(หู)ด้านขวาองค์พระเป็นเส้นบางเรียวคมโค้งออกตอนบนแล้วค่อย ๆเรียวลงปลายผายออกเล็กน้อย ด้านซ้ายพระกรรณตอนบนหนาและทำวงโค้งเว้าเข้าใกล้พระปราง(แก้ม)ส่วนล่างผายเล็กน้อย


จากพระหนุ(คาง)ลงมา ปรากฏพระศอ(คอ)เลือนรางก่อนราบไปกับพื้นผนัง พระอังสา(บ่า)ด้านขวาสูงและหนากว่าด้านซ้าย ลำพระองค์ตั้งแต่พระอุระ(อก)ลงมาปรากฏเส้นเฉียงจีวรลงไปชนด้านล่างพระพาหาขวา และจากพระอุระยังมีสังฆาฏิวางตัวเป็นเส้นโค้งคู่พาดผ่านพระอุทร(ท้อง)ไปจรดข้อพระหัตถ์(มือ) พระพาหา(ไหล่-แขนท่อนบน)ด้านซ้ายเล็กบางและผายออกมากกว่าด้านขวา วงพระกร(แขนท่อนล่าง)ขนาดใกล้เคียงกันวางวงโค้งลงมารับกับพระเพลา(ตัก) ระหว่างใต้ข้อพระกรขวากับพระชานุ(เข่า)ขวา ปรากฏเนื้อเกินเป็นขีดเล็กอันเป็นจุดพิจารณาจุดหนึ่งสำหรับแม่พิมพ์นี้ พระชานุ(เข่า)ด้านซ้ายสูงกว่าด้านขวา ใต้พระชานุขวาปรากฏปลายพระบาท(เท้า)ซ้าย

ฐานทั้ง ๓ ชั้น คล้ายกับพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ มีเส้นแซมปรากฏขึ้น ๒ เส้น เส้นแรกอยู่ระหว่างใต้พระเพลา(ตัก)กับฐานชั้นที่ ๓ เส้นนี้มีลักษณะเป็นเส้นตรงหนาจนดูเหมือนช่างผู้ออกแบบจงใจจะให้เป็นเส้นอาสนะ(ผ้ารองนั่ง)มากกว่าจะเป็นเส้นเกิน ดังเช่นเส้นแซมระหว่างฐานชั้นที่ ๓ กับชั้นที่ ๒ เป็นลักษณะเส้นครีบ ฐานชั้นที่ ๒ เป็นแบบคมขวานฐานสิงห์ ขาทั้งสองข้างวางลงบนฐานชั้นที่ ๑ที่เป็นฐานใหญ่ที่สุด

ส่วนซุ้มครอบแก้ว ตั้งแต่ฐานล่างขึ้นไปเป็นซุ้มทั้งหมด มีลักษณะเดียวกับซุ้มครอบแก้วของพระสมเด็จฯพิมพ์ใหญ่ คือใหญ่หนาแบบเส้นขนมจีนหรือเส้นผ่าหวาย ด้วยการออกแบบอย่างอิสระของซุ้มครอบแก้วที่ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดผูกพันอยู่กับด้านใน จึงทำให้องค์พระตลอดจนเส้นฐานและเส้นแซม ลอยเด่นอย่างชัดเจนและลงตัว


สำหรับด้านหลังองค์พระ เป็นแบบหลังเรียบ เมื่อผ่านเวลามานาน จึงปรากฏรอยยุบตัว ทำให้สภาพโดยรวมมีความสูงต่ำ หลุม แอ่ง และโพรงเกสร นอกจากนั้น ความหนึกนุ่มตาจากความเนียนฉ่ำของเนื้อหายังบ่งบอกว่าพระองค์นี้มีการใช้ส่วนผสมของน้ำมันประสานในอัตราที่เหมาะสม

พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม ที่นำมาลงไว้นี้ ทั้งเนื้อหา มวลสาร ร่องรอยธรรมชาติ การหดตัวของเนื้อพระโดยเฉพาะด้านในของเส้นซุ้มและซอกพระพาหา ตลอดจนวรรณะ คราบแป้งรองพิมพ์ และการคลายตัวของน้ำมันตังอิ้ว เป็นไปอย่างสมดุล สอดคล้องกับช่วงเวลาการสร้างองค์พระที่มีอายุสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน.


ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********
ข้อมูลประกอบบทความ
-หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น