โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระกำแพง ๒


พระซุ้มกอดำ พิมพ์ใหญ่


ตามปกติพระตระกูลกำแพงเพชรที่พบกันอยู่ทั่วไป มีเนื้อหลักอยู่ ๒ สี คือ สีแดง และสีดำ และเมื่อเอ่ยถึงพระซุ้มกอดำจะคิดไปถึงพระซุ้มกอที่ไม่มีกนก เหตุผลก็เพราะส่วนใหญ่แล้วพระกำแพงซุ้มกอที่ไม่มีกนกมักเป็นสีดำ แต่ในความเป็นจริงมีทั้งสีดำและสีแดงอิฐ เช่นเดียวกับพระพิมพ์ที่มีกนกก็มีทั้งสองสีนี้อยู่ด้วยเช่นกัน รวมถึงยังมีสีแยกย่อยออกไปอีกหลายโทน

พระกำแพงพิมพ์ซุ้มกอสีดำที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพระพิมพ์ใหญ่ นิยม มีความแตกต่างไปจากพระซุ้มกอมีกนกอย่างสิ้นเชิงทั้งองค์พระปฏิมาและรายละเอียดในพิมพ์ทรง จัดเป็นพุทธศิลป์เชียงแสนที่มีต้นเค้าค่อนไปทางลังกาตามศิลปะโปโลนนารุวะ ด้วยเหตุที่ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ทรงอาราธนาพระสงฆ์จากลังกาเข้ามา จึงคาดว่าอิทธิพลของศิลปะจะเข้ามาทางนี้ในรัชสมัยของพระองค์

พระซุ้มกอดำ พบพร้อมกับพระซุ้มกอมีกนกและพระกำแพงพิมพ์อื่น ๆ จากกรุพระบรมธาตุ ตั้งแต่คราวที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) มากำแพงเพชรในปีพ.ศ.๒๓๙๒ และต่อมาพบอีกหลายกรุในบริเวณทุ่งเศรษฐี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของวัดสายอรัญญิก หรือวัดที่เน้นไปทางวิปัสสนากรรมฐาน


การที่พระกำแพงซุ้มกอดำมีพุทธศิลป์แบบเชียงแสนลังกาวงศ์  องค์พระประธานจึงได้รับการออกแบบให้ผึ่งผายใหญ่ล่ำ เหนือพระเศียรเป็นรัศมีตั้งขอบขึ้นแล้วลาดเอียงเข้าหาพระพักตร์ เช่นเดียวกับขอบด้านนอกทุกส่วนลาดเอียงเข้าหาองค์พระเช่นกัน พุทธลักษณ์โดยรวม พระเกศทรงดอกบัวตูม ลงมาเป็นพระเมาลี พระเศียร และหน้ากระจัง พระพักตร์เกลี้ยงกลมมนทรงไข่ พระอังสา(บ่า)แผ่กว้าง พระอุระกว้างสอบลง ลำพระองค์ทั้งสองด้านเฉียงออกเล็กน้อยชนกับผนังใน  พระพาหา(ไหล่-แขนท่อนบน)หนาคล้ายมีกล้าม วางผายออก ถัดไปเป็นวงพระกร(แขนท่อนล่าง)ลดขนาดลงแต่มีความหนาเช่นกัน ก่อนเป็นพระหัตถ์นูนเด่นกลางพระองค์เหนือพระเพลา ประทับนั่งแบบขัดสมาธิราบบนฐานเขียง ความโดดเด่นของพระซุ้มกอดำ จึงอยู่ที่รายละเอียดของพระประธานที่มีความสง่างามจากการออกแบบให้เป็นนูนต่ำในตำแหน่งกึ่งกลางเหนือผนังโดยรอบ


เมื่อพิจารณาสภาพผิวสีดำของพระซุ้มกอแล้ว พบว่าไม่เป็นสีดำสนิท หากแต่ดำหม่นปนเทา ซึ่งน่าจะเกิดจากการคลายตัวของน้ำว่านมงคลบางชนิดออกมาเคลือบองค์พระ ในพระซุ้มกอดำบางองค์ที่พบหากสภาพสึกจะเห็นเนื้อในแห้งคล้ายสีกะลา ดังนั้นสีดำที่เห็นจึงน่าจะเป็นสีจากปฏิกิริยาทางธรรมชาติ ส่วนเนื้อพระซุ้มกอดำเป็นพระเนื้อละเอียดและแน่น พื้นผิวโดยรวมมองดูเรียบ แต่หากใช้กล้องส่องดูก็จะพบความเหี่ยวทั้งเป็นริ้วและขรุขระทั่วทั้งองค์ นอกจากนั้นบริเวณที่เป็นส่วนลึกเช่นซอกพระพาหา จะพบราดำเกาะตัวเหนือคราบกรุน้ำตาล

นอกจากพระซุ้มกอดำ พิมพ์ใหญ่แล้ว ยังมีขนาดกลางอีกพิมพ์หนึ่ง ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน นอกจากนั้นยังพบในพระซุ้มกอขนาดเล็กที่ด้านหลังเป็นพิมพ์พระปางเปิดโลก และแบบหลังก้นหอย อาจมีน้อยจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่หากมีโอกาสพบและพิจารณาสภาพธรรมชาติเป็นแบบเดียวกันก็จะถือว่าโชคดี เพราะไม่ว่าจะเป็นพระพิมพ์แบบใด นิยมหรือไม่ แต่เป็นพระที่สร้างขึ้นในเวลาเดียวกัน มีอายุความเก่าเท่ากัน โดยเฉพาะพุทธคุณด้านโชคลาภ เมตตามหานิยม และคงกระพัน มีเหมือนกันทุกประการ นั่นเองครับ.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น