โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๖



หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า






พระครูวิมลคุณากร หรือหลวงปู่ศุข เกสโร เกิดเมื่อวันจันทร์เดือน ๔ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีวอก พ.ศ.๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ตรงกับปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนอายุได้ ๒๒ ปี ท่านได้เข้าอุปสมบทที่วัดโพธิ์บางเขน(วัดโพธิ์ทองล่าง) มีพระครูเชย จนฺทสิริ พระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่ศุข เกสโร ได้ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนาธุระ และด้านวิทยาคม จากพระอุปัชฌาย์ ร่วมกับศิษย์สำนักเดียวกัน คืออาจารย์เปิง วัดชินวราราม และหลวงปู่เฒ่า วัดหงส์ นอกจากนั้นท่านยังเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน และคุ้นเคยกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ที่ทรงอุปถัมภ์วัดชินวรารามมาโดยตลอด

ที่วัดชินวราราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปทุมธานี ถือเป็นจุดนัดพบที่สำคัญ กล่าวได้ว่าทุกครั้งที่หลวงพ่อเงิน เดินทางมาจากพิจิตร มักจะแวะพักที่วัดแห่งนี้ก่อนจะเข้าเมืองหลวง หลวงปู่ศุข และพระสหธรรมิก ก็ได้ใช้โอกาสนี้ศึกษาวิชาต่าง ๆจากหลวงพ่อเงิน จนแตกฉานทั่วกัน และท่านยังแนะนำ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ให้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ด้วย

หลวงปู่ศุข ท่านยังเป็นพระชั้นศิษย์ของพระอริยะที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดี อาทิ หลวงปู่จีน วัดท่าลาด ฉะเชิงเทรา, หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้, หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม, หลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี, หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี, หลวงพ่อโต วัดเนิน ชลบุรี, หลวงปู่ภู วัดอินทร์ กทม., และหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ธนบุรี เป็นต้น

ส่วนพระอริยะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบร่วมสมัยกับท่าน ประกอบด้วย หลวงพ่อทัพ วัดทอง ธนบุรี, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ อยุธยา, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม, หลวงปู่เขียน วัดถ้ำขุนเณร พิจิตร, หลวงพ่อฉุย วัดคงคาราม เพชรบุรี, หลวงปู่ไข่ วัดเชิงเลน กทม., หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม, หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา และหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน สุพรรณบุรี เป็นอาทิ

ในช่วงที่มารดาของท่านเริ่มชราภาพมาก หลวงปู่ศุข จึงเดินทางกลับภูมิลำเนา จำพรรษาที่วัดอู่ทองปากคลองมะขามเฒ่า ต่อมาจึงย้ายมาที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่เรียกว่าวัดปากคลองมะขามเฒ่าในปัจจุบัน 

ชื่อเสียงของหลวงปู่ศุข เริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่ว ในคราวมารดาของท่านมรณกรรม ท่านได้สร้างพระพิมพ์สี่เหลี่ยมซุ้มรัศมีเนื้อตะกั่วเพื่อแจกให้ชาวบ้านที่มาร่วมฌาปนกิจ เมื่อได้รับแจกไปแล้วปรากฏว่ามีอภินิหารป้องกันเขี้ยวงาและอยู่ยงคงกระพัน เกิดคำเลื่องลือไปทั่วจนวัดปากคลองมะขามมีผู้คนแวะเวียนมาไม่ขาดสาย หลวงปู่ศุข ท่านก็สร้างพระแจกให้ไป โดยเฉพาะฝากไปให้เด็ก ๆ ท่านมักจะถามญาติโยมว่า มีลูกกี่คน ได้คำตอบแล้วท่านก็ให้ไปตามจำนวนนั้น ในระยะต่อมา หลวงปู่ศุข ได้สร้างพระเครื่องและเครื่องรางของขลัง ทั้งพระเครื่องเนื้อโลหะและเนื้อผง ตะกรุด ผ้ายันต์ และอีกหลายอย่างนับไม่ถ้วน เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นเกราะป้องกันภัยให้ผู้คนในสมัยของท่านมาโดยตลอด 

หลวงปู่ศุข เกสโร ท่านได้ละสังขารในเดือนอ้าย ปีกุน พ.ศ.๒๔๖๖ รวมสิริอายุได้ ๗๖ ปี ๕๔ พรรษา.


คาถาบูชาหลวงปู่ศุข เกสโร

ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วว่า

“โอม อิติอะระหังสุคะโต เกสโรนามะเต ประสิทธิเม อิหิอะโห นะโมพุทธายะ”

คาถาเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย

ตั้ง นะโม ๓ จบ แล้วว่า

“สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ มะอะอุ”




จันทร์พลูหลวง...รวบรวม/เรียบเรียง.

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น