โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ ๑๒


พระสมเด็จฯวัดระฆัง
อกร่อง หูยาน ฐานแซม


เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ท่านเป็นอริยสงฆ์แห่งราชสำนักที่มีบทบาทสูงหลายด้านโดยเฉพาะด้านการศาสนาในรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวได้ว่า มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วเมือง พระเครื่องของท่านจึงได้รับการออกแบบจากคนทุกกลุ่มที่มีความศรัทธาต่อท่าน แต่ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบพิมพ์ที่สวยงามนั้นเป็นแบบของหลวงสิทธิ์ หลวงวิจารณ์เจียรนัย กลุ่มช่างหลวง หรือช่างสิบหมู่ เป็นต้น 

พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม องค์นี้เป็นพิมพ์ทรงที่ได้รับการออกแบบอย่างประณีต สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือการแกะแม่พิมพ์จากช่างหลวง หรือช่างสิบหมู่ พิมพ์ทรงกรอบนอกเป็นสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก เส้นบังคับพิมพ์ปรากฏชัดนูนเด่นทั้งกรอบ ภายในช่างได้บรรจงแกะซุ้มครอบแก้วหนาใหญ่แบบเส้นขนมจีนหรือหวายผ่าซีก เส้นซุ้มด้านขวาองค์พระลาดเอียงกว่าด้านซ้ายเล็กน้อยตามสูตรของสมเด็จฯวัดระฆัง ภายในซุ้มครอบแก้วช่างได้ออกแบบให้องค์พระและฐานประทับอยู่กึ่งกลาง แต่ค่อนข้างชิดไปทางซ้าย


รายละเอียดขององค์พระ พระพักตร์(หน้า)เป็นรูปทรงมนไข่แบบสุโขทัย พระเกศโคนใหญ่เรียวขึ้นไปเอียงซ้ายเล็กน้อยก่อนชนเส้นซุ้ม พระหนุ(คาง)เรียวรับกับพระศอ(คอ)จรดองค์พระ พระกรรณ(หู)ทั้งสองด้านตอนบนใหญ่แล้วค่อย ๆเรียวลงไปจรดพระอังสา(บ่า)อันเป็นลักษณะของพระ“หูยาน” ลำพระองค์เอียงซ้ายเล็กน้อยเส้นสังฆาฏิพาดเป็นเส้นคู่จากพระอุระ(อก)ลงไปชนพระหัตถ์เป็นลักษณะของ “อกร่อง”  ลำพระองค์ทั้งสองด้านผายออก พระพาหา(ไหล่-แขนท่อนบน)หักลงแบบโค้งเล็กน้อย วงพระกร(แขนท่อนล่าง)ทั้งสองด้านบรรจบกันตรงกลาง  พระพาหาและวงพระกรด้านขวาแลดูหนากว่าด้านซ้าย ส่วนของพระเพลา(ตัก) พระชานุขวากลมมนใหญ่กว่าด้านซ้าย พระชงฆ์(แข้ง)ส่วนบนเว้าลงรับกับวงพระกร ส่วนล่างเป็นเส้นตรง

ฐานทั้ง ๓ ชั้น จากชั้นที่๑ เป็นฐานเส้นคู่หรือฐานร่อง ปลายทั้งสองด้านยาวเกือบชนเส้นซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นฐานชั้นที่ ๒ วางตัวแบบเว้าลงเล็กน้อยปลายฐานทั้งสองด้านปรากฏขาโต๊ะลาง ๆ ฐานชั้นที่๓ ใหญ่และยาวกว่าฐานที่ ๒ เล็กน้อย ระหว่างฐานที่ ๓ กับพระเพลา ปรากฏเส้นเรียวยาวปลายแหลมคั่นอยู่ เช่นเดียวกับระหว่างฐานชั้นที่ ๓ กับชั้นที่ ๒ ก็ปรากฏเส้นนี้เช่นกันแต่สั้นกว่า ลักษณะนี้เรียกกันว่าเป็นแบบพิมพ์ของ “ฐานแซม” สำหรับพื้นผนังโดยรวม ด้านนอกที่อยู่ระหว่างเส้นบังคับพิมพ์กับเส้นซุ้มครอบแก้วสูงกว่าพื้นผนังภายในซุ้มเล็กน้อย ด้านหลังเป็นแบบหลังเรียบ

พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซมที่เป็นลักษณะนี้คนสมัยก่อนเรียกกันว่า “อกร่อง หูยาน ฐานแซม” เป็นคำที่ฟังแล้วแลดูขลังและเห็นภาพชัดเจน พระสมเด็จฯองค์นี้เป็นพระที่ไม่เคยผ่านการนำมาคล้องบูชา แต่ได้รับการรักษาไว้อย่างภายในตู้เซพโบราณ องค์พระจึงอยู่สภาพเดิม โดยเฉพาะผิวที่คราบแป้งกลืนลงไปในเนื้อพระอย่างแนบสนิททั้งองค์ เป็นลักษณะที่เรียกว่า”ผิวยังไม่เปิด”


เนื่องจากเป็นพระที่ผ่านการสร้างมานาน เอกลักษณ์ที่สำคัญคือส่วนของเส้นซุ้ม พระพาหา ตลอดจนวงพระกร  บริเวณที่เป็นส่วนสูงตั้งชันจะหดตัวจากด้านในม้วนเข้าไปใต้แนวเส้น ผิวขององค์พระทั้งองค์ปรากฏคราบน้ำมันตังอิ้วขึ้นมาประปราย ทั้งบริเวณใต้วงพระกรกับพระชานุซ้าย ร่องฐาน เส้นแซม ขอบมุมซ้ายขวา  และจุดอื่น ๆกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนด้านหลังองค์พระ จะเห็นได้มากบริเวณขอบมุมบนขวา และจากส่วนกลางลงมาล่าง  พื้นผิวโดยรวมทั้งองค์มีร่องรอยตามธรรมชาติครบถ้วน รวมถึงการกระจายตัวของมวลสารละเอียดที่เป็นจุดดำแดงส้มก็เป็นไปอย่างสมดุล

นอกจากนั้น ด้านหลังของพระสมเด็จฯองค์นี้ เป็นการปาดจากบนลงล่าง มีร่องรอยคลื่นตื้น ๆให้เห็นอยู่บ้าง ขอบพระถูกตัดแบบเข้าหาตัวผู้ตัด จึงปรากฏรอยแนวเฉียงลงของขอบทุกด้าน จัดเป็นพระสมเด็จฯวัดระฆังอีกองค์หนึ่งที่มีความสมบูรณ์ตั้งแต่แบบแม่พิมพ์ กระบวนการกดพิมพ์  การตาก และการเก็บรักษามาเป็นอย่างดีครับ.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********

ข้อมูลประกอบบทความ

-หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น