โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระนางพญา ๑


นางพญา พิมพ์เข่าโค้ง


พระนางพญา เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนเมื่อคราวสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกในปีพ.ศ.๒๔๔๔ เพื่อทรงหล่อพระพุทธชินราชจำลองไปประดิษฐานยังวัดเบญจมบพิตร ในคราวนั้นทางวัดนางพญาได้จัดเตรียมสร้างพลับพลาที่ประทับ พระกรุนางพญาจึงแตกขึ้นมาขณะขุดหลุมเตรียมปักเสา เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนิน ทางวัดจึงทูลเกล้าฯถวายไปเป็นจำนวนมาก

ต่อมามีการพบเพิ่มเติมแต่ผู้คนสมัยนั้นไม่ได้ตื่นเต้นอะไรนัก เพราไม่มีค่านิยมนำพระหรือของวัดเข้าบ้าน พระที่พบจึงถูกนำไปกองไว้ตามพระเจดีย์เก่า หรือใส่ไหฝังไว้ตามไร่นาไม่นำเข้าบ้าน อาจมีนัยยะที่ต้องการให้พระคุ้มครองอาณาบริเวณพื้นที่ก็เป็นได้ ในระยะต่อมาจึงมีการพบพระนางพญาบรรจุในไหอยู่ตามท้องนาบ้าง โคนต้นไม้บ้างนั่นเอง


พระนางพญาที่พบนั้น มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์อกนูนเล็ก พิมพ์สังฆาฏิ และพิมพ์เทวดา เป็นต้น นอกจากนั้นในพระนางพญาทุกแบบพิมพ์ยังมีอยู่หลายเนื้อแบ่งเป็น ๓ ประเภทหลักคือ เนื้อหยาบ เนื้อละเอียด และเนื้อละเอียดปนหยาบ  ส่วนสีของพระนางพญายังมีอยู่ด้วยกันหลากหลายแตกต่างกันไปตามความแรงอ่อนของไฟที่เผาเช่น สีออกเขียวมีเขียวตับเป็ดหรือเขียวตากบ เขียวหินครก เขียวมะกอก ส่วนสีอื่นเช่น สีดอกพิกุล สีหัวไพล สีอิฐ สีแดง  สีขมิ้นชัน สีน้ำตาลเข้ม และสีดำ เป็นต้น


การพิจารณาพระนางพญา ต้องเข้าใจถึงอายุพระที่มีตำนานเล่าขานมาว่าสร้างโดยพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระนางพญาจึงมีอายุอยู่ในราว ๔๐๐ ปีโดยประมาณ ตามศิลปะแบบอยุธยา ดังนั้น ทั้งเนื้อหา พิมพ์ทรง และร่องรอยต่าง ๆ ต้องมีความเป็นธรรมชาติสมเหตุผลกับกาลเวลา

พระนางพญา นอกจากรูปทรงสัณฐานเป็นสามเหลี่ยมมีความหนา องค์พระสามารถตั้งบูชาได้ ส่วนเนื้อหานอกจากมวลสารอันเป็นมงคลเช่น ว่าน และเกสรดอกไม้ตามสูตรการสร้างแล้ว เนื้อหลักเป็นดินและกรวด จึงทำให้พระนางพญามีความแข็งแกร่งจากกรวดที่เข้าไปเสริมให้โครงสร้างพระแข็งแรง และมีความหนึกนุ่มจากเนื้อดินและว่านเกสร โดยเฉพาะองค์พระที่ผ่านการใช้บูชา ส่วนกรวดที่พบในองค์พระมีสัณฐานทั้งกลม รี และเหลี่ยมไม่แน่นอน แต่จะไม่มีความคม มีทั้งสีน้ำตาล ขาวใส ขาวขุ่น และดำ


สำหรับองค์ที่นำมาลงนี้ เป็นพระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง สีออกเขียวคล้ำ เนื้อละเอียดปนหยาบ มีความเงาวาวอันเนื่องมาจากผ่านการใช้บูชา  ด้านข้างขององค์พระและด้านล่างมีรอยตัดแบบชิดทั้งองค์ รอยตอกเป็นเส้นใหญ่มีระยะห่าง  องค์พระลอยตัวไม่มีฐาน ประทับนั่งปางมารวิชัย พระหัตถ์ขวาพาดลง พระหัตถ์ซ้ายวางโค้งเหนือพระเพลาที่โค้งรับอยู่ด้านล่าง

ส่วนสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติม คือคราบกรุของพระนางพญาที่มีความแตกต่างกันใน ๒ แบบ คือกลุ่มแรก พระนางพญาที่พบอยู่ตามพื้นดินบริเวณวัดนางพญา พระกลุ่มนี้จะมีคราบกรุเหมือนคราบดินออกน้ำตาลอ่อนและเข้มสลับกันไป เป็นคราบที่เกาะติดฝังแน่นไม่สามารถล้างออกได้ง่ายและคราบนี้ยังมีความยุบย่นเป็นริ้วอยู่ทั่วไป ใต้คราบกรุยังพบราดำ มีข้อสังเกตว่าราดำที่พบตามซอกจะมีมิติเหนือพื้นผิว แต่บริเวณที่เนื้อพระถูกสัมผัส ราดำจะแนบสนิทลงไปในเนื้อ และมีส่วนให้ผิวของเนื้อเข้มขึ้นไปตามสีของราดำด้วยเช่นกัน


ส่วนอีกกลุ่ม เป็นพระนางพญาที่พบอยู่ในไห พระกลุ่มนี้จะมีความสมบูรณ์มากกกว่า เนื่องจากไม่ผ่านการใช้งาน สภาพขององค์พระยังดูชัดเจนสวยงามทุกส่วน แต่มีจุดที่พิจารณาได้คือคราบกรุที่เป็นฝ้าละอองหรือที่เรียกว่าคราบแคลเซียม เหนือคราบนี้เป็นราดำกระจายอยู่ทั่วไป เห็นได้จากบริเวณซอก หรือตามหลุมแอ่งตลอดทั่วทั้งองค์พระ นอกจากนั้นสภาพพื้นผิวทั้งองค์จะปรากฏรอยผดขนาดเล็ก

พระนางพญา เป็นพระเครื่องอันทรงคุณค่า ว่ากันว่าเบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทั้งอำนาจทางการทหารและการทูตการค้ากับต่างชาติ ส่วนหนึ่งมาจากพระนางพญา ที่บรรดาเหล่าข้าราชการในพระองค์อาราธนาเป็นอำนาจบารมีทั้งแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม.


ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ

.............จันทร์พลูหลวง................

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น