โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๘


หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
อำเภอเสนา พระนครศรีอยุธยา




หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นพระอริยสงฆ์ผู้ทรงอภิญญา เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๘ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ในปีพ.ศ.๒๔๓๙ ณ วัดบางนมโค มีหลวงพ่อสุ่น วัดปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่ม วัดสาธุโภชน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “โสนันโท”

เมื่อเข้าสู่บรรพชิตเพศ ท่านได้เริ่มศึกษากับหลวงพ่อสุ่น พระอุปัชฌาย์ อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางเข้าศึกษาพระปริยัติธรรม ที่วัดสระเกศ ในพระนครหลวง และยังศึกษาวิชาการต่าง ๆที่วัดเจ้าเจ็ด และวัดสังเวช จากนั้นท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี เล่าเรียนวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นที่พอใจของพระอาจารย์ ท่านยังได้ศึกษาเพิ่มเติมกับหลวงพ่อโหน่ง อินทสุวัณโณ แห่งวัดคลองมะดัน อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี และยังได้ศึกษากับพระผู้ทรงอภิญญาอีกหลายรูป

ในด้านวัตถุมงคล ท่านเรียนการสร้างพระเนื้อดินจากชีปะขาว เรียนพระคาถาจากพระอาจารย์แจง สวรรคโลก พระอริยะที่อยู่ร่วมในสมัยท่าน มีอยู่ด้วยกันมาก อาทิ หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา สุพรรณบุรี, หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก อยุธยา, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ, หลวงพ่อทองสุข วัดตะโหนดหลวง เพชรบุรี, หลวงปู่ทิม วัดระหารไร่ ระยอง, หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา นครปฐม, หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ธนบุรี และหลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ สุพรรณบุรี เป็นต้น

หลังจากหลวงพ่อปาน ร่ำเรียนวิชาการทุกแขนงมาตามลำดับ ท่านได้ย้ายกลับมาอยู่ที่วัดบ้านเกิดบางนมโค ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระครูวิหารกิจจานุการ” ดำเนินวัตรปฏิบัติตามกิจของสงฆ์อย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็เป็นที่พึ่งให้กับญาติโยมที่เดินทางมานมัสการอย่างไม่ขาดสาย จนถึงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ท่านก็ละสังขาร รวมสิริอายุได้ ๖๓ ปี ๔๒ พรรษา.

สำหรับมรดกที่ท่านมอบให้ไว้แก่คนรุ่นหลัง มีพระเนื้อดินทรงสี่เหลี่ยมมุมตัดเป็นรูปพระพุทธองค์ประทับเหนือสรรพสัตว์ อาทิ ทรงครุฑ ทรงหนุมาน ทรงไก่ ทรงเม่น ทรงนก และทรงปลา นอกจากนั้นยังมีผ้ายันต์เกราะเพชร และพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์ เป็นต้น

พระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์

นะโม ๓ จบ แล้วว่า
บทนำ “พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ” (๑ จบ)
บทพระคาถา (ภาวนา ๓,๕,๗,๙ จบ ตามสะดวก)

วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถีโย
พุทธัสสะ มานี มามะ พุทธัสสะ สวาโหม.

พระคาถามหาอำนาจ

นะโม 3 จบ แล้วว่า

เอวัง ราชะสีโห มะหานาทัง สีหะนาทะกัง
สีหะนะเม สีละเตเชนะ นามะ ราชาสีโห
อิทธิฤทธิ์ พระพุทธังรักษา สารพัดศัตรู อะปะราชะยัง
อิทธิฤทธิ์ พระธัมมังรักษา สารพัดศัตรู อะปะราชะยัง
อิทธิฤทธิ์ พระสังฆังรักษา สารพัดศัตรู อะปะราชะยัง.

หมั่นสวดเป็นประจำ หรือเสกน้ำล้างหน้า โบราณว่าประสิทธิ์นักแล.


จันทร์พลูหลวง...รวบรวม/เรียบเรียง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น