โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๒


พระสมเด็จฯวัดระฆัง 
อกร่อง หูยาน ฐานแซม




พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม องค์นี้เส้นซุ้มครอบแก้วใหญ่กลมหนาเป็นแบบเส้นผ่าหวาย แนวเส้นที่วิ่งตรงจากฐานล่างด้านขวาองค์พระผายออกเล็กน้อยแล้วสอบเข้าจนถึงแนวระนาบพระพักตร์จึงวาดเป็นวงโค้งไปสู่ด้านซ้ายองค์พระ ก่อนจะวิ่งตรงแบบเกือบตั้งชันไปจรดเส้นฐานด้านล่าง



-วัดระฆังโฆสิตาราม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งธนบุรี ตำนานแห่งจักรพรรดิพระเครื่อง

ลักษณะเด่นของพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม อยู่ที่พระกรรณทั้งสองข้างยาวลงมาจนจรดเกือบพระอังสา(ไหล่,บ่า)องค์พระวางองค์บิดซ้ายเล็กน้อย มีรอยร่องกลางพระองค์จากพระอุระ(อก)ลงเกือบจรดพระหัตถ์ ที่วางอยู่บนพระเพลา(ตัก) 

ใต้พระชง(เข่า,แข้ง)ลงมามีเส้นแซมวางเป็นแนวนอนขนาน บางทีก็เรียกเส้นนี้ว่า อาสนะ รับด้วยฐานพระชั้นที่สาม ใต้ฐานนี้จะปรากฏเส้นแซมอีกเส้นหนึ่ง ก่อนจะถึงฐานที่สองที่มีลักษณะคมขวานฐานสิงห์ จนถัดไปเป็นฐานชั้นที่หนึ่งทอดเป็นตัวแนวยาวและกว้างกว่าฐานชั้นอื่น ในสมัยก่อน พระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่มีลักษณะนี้ โบราณเรียกว่า “อกร่อง หูยาน ฐานแซม” ปัจจุบันเรียกกันสั้น ๆว่า “พิมพ์ฐานแซม”เป็นพิมพ์นิยมอีกพิมพ์หนึ่งของพระสมเด็จฯวัดระฆัง



                ภาพประกอบด้านหน้า นอกจากองค์ประกอบของเส้นซุ้มองค์พระ และฐานแล้ว หากสังเกตขอบมุมบนทั้งสองด้านจะสูงเกือบเท่าเส้นซุ้มแล้วค่อย ๆลดระดับลาดต่ำลงไปจรดขอบซุ้มและมีระดับใกล้เคียงกับพื้นผนังภายในซุ้ม



ภาพประกอบด้านหลัง ด้านหลังพื้นไม่สม่ำเสมอ และมีริ้วรอยการครูดของเม็ดมวลสารระหว่างการทำ เมื่อทารักลงไปจึงเห็นระดับสูงต่ำชัดเจนขึ้น นอกจากนั้นยังปรากฏก้อนมวลสารเกาะติดประปราย ซึ่งถือเป็นปกติสำหรับการทำครั้งละจำนวนมากย่อมมีเศษเนื้อเศษผงปะปนเข้ามาแต่ก็ช่วยให้ง่ายต่อการพิจารณา 


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม องค์นี้ ผ่านการลงรักมาแต่เดิม เป็นรักสีน้ำตาล หรือรักจากเมืองจีน ที่ถูกนำเข้ามาตามระบบการค้าสำเภาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ คุณสมบัติของรักประเภทนี้ จะแห้งง่ายกว่ารักไทย ทำให้รอไม่นาน จึงมีการทารักซ้ำเพื่อให้มีความหนาเพิ่มขึ้น  เป็นการรักษาเนื้อพระทางหนึ่ง ง่ายต่อการนำไปปิดทองทับทางหนึ่ง และยืดอายุพระให้ยาวนานออกไปอีกทางหนึ่ง

ข้อควรระวัง สำหรับการนำองค์พระขึ้นมาพิจารณา ควรระมัดระวังองค์พระจะลื่นหล่นมือ เพราะพระสมเด็จฯวัดระฆัง เกิดจากการผสมมวลสารด้วยน้ำมันตังอิ้วเพื่อให้เนื้อเกาะติดกันเหมือนการนวดแป้งแล้วนำไปกดในแม่พิมพ์ เมื่อเวลาผ่านไปนานน้ำมันที่เป็นส่วนผสมอยู่ในองค์พระจะแทรกซึมออกมาตามร่องระแหง น้ำมันนี้ยังช่วยเคลือบองค์พระให้แข็งแรงยิ่งขึ้น แต่ก็ลื่นมือ อาจพลั้งพลาดตกหล่นเสียหายได้.   



ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
............จันทร์พลูหลวง...........


*********

ข้อมูลประกอบบทความ

-หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี):ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามาบารมี”.2554.













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น