โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๑๗


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม


พระสมเด็จฯวัดระฆัง ที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) องค์นี้จัดอยู่ในแบบพิมพ์ฐานแซม วรรณะขาวอมเหลือง ผ่านการใช้บูชามาบ้างจึงเห็นถึงความหนึกนุ่มฉ่ำใส ที่เกิดจากสภาพอากาศภายนอกแทรกตัวเข้าไปในเนื้อพระ ประกอบกับความร้อนและเหงื่อจากผู้ที่นำไปบูชาย่อมทำให้องค์พระเกิดความฉ่ำยิ่งขึ้น

พระองค์ในภาพ กรอบนอกองค์พระตัดแบบชิดเส้นกรอบบังคับพิมพ์ แต่ยังเห็นแนวเส้นกรอบด้านขวาองค์พระลงมาจากมุมบนวางแนบคู่กับเส้นซุ้มด้านล่าง ส่วนเส้นบังคับซ้ายลงมาชนเส้นซุ้มระดับปลายฐานชั้นที่ ๒ เส้นซุ้มโดยรวมหนาใหญ่แบบเส้นผ่าหวาย สำหรับองค์พระ เส้นฐาน และเส้นแซม เป็นไปตามแบบพิมพ์นิยม มีส่วนที่พิเศษเพิ่มขึ้นคือประทับนั่งแบบขัดสมาธิเพชร  


ในพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซมองค์นี้ สภาพผิวพระโดยรวมยุบตัวทั่วทั้งองค์ บ่งบอกว่าเนื้อพระก่อนนำลงกดในแบบพิมพ์ค่อนข้างเหลว ส่วนเนื้อหามวลสารมีการกระจายตัวทั้งเศษผงถ่าน เกสรดำ ส้ม น้ำตาล ด้านหลังปรากฏรอยปูไต่ หนอนด้น แอ่งรอบมวลสารเก่า หลุม และโพรงเกสร ตามลักษณะธรรมชาติของพระสมเด็จฯวัดระฆัง


ส่วนด้านข้างทั้งสอง ด้านบน และด้านล่าง เป็นรอยตอกตัด ครูดกับเนื้อพระ ทำให้ผิวด้านขอบมีรอยลู่และช่องอากาศเกิดขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปนานเกิดการหดตัวยุบตัว จึงเห็นรอยแอ่งรอยเว้าและรอยลู่ชัดเจนมากขึ้น นอกจากนั้นสภาพื้นผิวทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ปรากฏรอยพรุนปลายเข็มทั่วทุกอณูเช่นกัน



ในอดีตมีความพยายามของผู้นิยมเสาะหาพระสมเด็จฯวัดระฆัง เมื่อได้มาก็นำองค์พระมาถูกกับเหงื่อไคลตามผิวหน้า หรือบางครั้งหนักไปกว่านั้นก็นำใบตองแห้งมาขัดให้เกิดความมัน จนปัจจุบันองค์พระที่ถูกนำไปกระทำอย่างนั้น กลายเป็นพระดูยากไปเลย พระสมเด็จฯที่สวยงามอย่างแท้จริงดูกันที่ความเป็นธรรมชาติ ผิวขององค์พระที่ผ่านมานานย่อมมีร่องรอยปรากฏให้เห็น แต่การถูกนำไปขัดถูกย่อมทำให้ร่องนั้นตื้นหรือจนกระทั่งหายไป


การพิจารณาพระสมเด็จฯวัดระฆัง นอกจากเนื้อหามวลสาร และพิมพ์ทรงแล้ว ในส่วนของร่องรอยธรรมชาติที่ผ่านกาลเวลา จึงย่อมเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาครับ.


ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********
ข้อมูลประกอบบทความ
-หนังสือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น