โพสต์แนะนำ

วันพุธที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ย้อนเกร็ดประวัติศาสตร์ ๑



“เนะ สยํ กฺก”
ระวัง “สยามอันตราย”


ภาพการแกะสลักศิลานูนต่ำแสดงการเดินทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ริมระเบียงปราสาทหินนครวัด ส่วนที่เป็นกองทัพสยามเคยมีการจารึกไว้ว่า“ เนะ สยํ กฺก “(ปัจจุบันจารึกถูกลบออกไปแล้ว) เคยมีการเสนอว่าเป็นภาพแกะสลักแสดงถึงความไม่เป็นระเบียบหรือล้าหลังของทัพสยามหรืออาจเลยเถิดไปว่าชาวสยาม “เป็นคนเถื่อน” แต่หากพิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล รูปแกะสลักนูนต่ำนี้มีบุคคลอยู่ ๒ กลุ่มหลักคือ กลุ่มทหารขอม และกลุ่มทหารสยาม


ริ้วขบวนทหารตอนกลางถึงส่วนหน้าเป็นทหารขอมที่ช่างแกะสลักออกแบบให้แตกต่างออกไป

กลุ่มทหารขอมมีตั้งแต่ระดับแม่ทัพที่ยืนอยู่บนหลังช้างในท่ากำลังเงื้อง่าง้างธนู  ลงมาด้านล่างทหารม้าประกบข้างขบวนง้างแขนแกว่งดาบราวกับเร่งให้เดินทัพ และทหารขอมอีกราว ๒๐ นายเดินนำหน้าขบวนทหารสยามที่เดินเป็นแถวยาวโดยมีนายกองทหารขอมปิดท้ายขบวน

ที่แยกแยะออกมาอย่างนี้ เพราะทหารขอมกับทหารสยาม มีลักษณะแตกต่างกัน หากเราสังเกตจะเห็นว่า เครื่องแต่งกายโดยเฉพาะผ้านุ่งลายริ้วเป็นเส้นแนวตั้งกับผ้ารัดเอวแทนเข็มขัดปล่อยชายตุ้งติ้งรอบเอวเป็นศิลปะเฉพาะสมัยนครวัด(พุทธศตวรรษ๑๗-๑๘)อันตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ การสลักศิลานูนต่ำยังแยกลักษณะเฉพาะของทหารขอมที่แต่ละคนถือหอกปลายแฉกกับโล่ขนาดใหญ่แตกต่างกับทหารสยามที่เดินตามซึ่งนุ่งผ้าไม่มีลวดลายอกัปกิริยามือซ้ายยึดโล่ไว้กับอก มือขวาถือหอกตรงไม่มีแฉก  

ซ้ายทหารสยาม ส่วนที่นุ่งผ้าลายเป็นทหารขอมทั้งหมด

ทหารขอมที่เดินนำหน้าขบวนอยู่นี้ต่างมีท่าทีที่ระแวดระวังและเลิ่กลั่ก บางคนถึงกับหันหลังไปมองขบวนของสยาม จนทำให้เกิดภาพการเดินทัพที่ไม่มีระเบียบวินัย ก่อนหน้านี้หลายคนตีความว่าเป็น ทหารสยาม ทำนองว่าเป็น “คนเถื่อน” แต่เอาเข้าจริง น่าจะเป็นภาพที่แสดงอาการห่วงหน้าพะวงหลังเพราะความไม่ไว้วางใจทหารสยามเสียมากกว่า

“เนะ สยํ กฺก” จึงอาจมีความหมายว่า”ให้ระวังสยาม”มากกว่าจะถูกตีความแบบเหมารวมว่าทหารสยามเป็น”คนเถื่อน”

จะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม การตีความแบบคิดเอาเอง บางครั้งอาจส่งผลเสียต่อความรู้สึกของฝ่ายต่าง ๆ จะว่าไปแล้ว ทุกชนชาติรอบสยาม..ต่างก็ล้วนเป็นเครือเถาว์ญาติวงศ์กันทั้งนั้น.


ร่วมกันศึกษาประวัติศาสตร์อย่างปราศจากอคติ
...................วิญญู บุญยงค์....................
*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น