โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เหรียญหล่อหลวงพ่อทา

เหรียญหลวงพ่อทา

วัดพะเนียงแตก รุ่น ๒


หลวงพ่อทา โสณุตฺตโร วัดพะเนียงแตก จังหวัดนครปฐม เป็นพระอริยสงฆ์ต้นรัตนโกสินทร์ เกิดเมื่อปีพ.ศ.๒๓๖๖ มีอายุยืนนานถึง ๙๖ ปี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สุดท้ายที่ "พระครูอุตรการบดี" ดำรงตำแหน่ง "เจ้าคณะแขวงรองเมืองนครไชยศรี และพระอุปัชฌาย์ทางตอนเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕


หลวงพ่อทา ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ รอบรู้ในปริยัติธรรม วิปัสสนา กัมมัฏฐาน ทั้งคาถาอาคม และมนตรา เล่ากันสืบเนื่องมาว่า สมัยก่อนพวกนักเลงเสือร้ายชุกชุม มักจะชอบมารวมตัวกันในงานวัด ดังคราวหนึ่งวัดพะเนียงแตกสมัยนั้นยังมีชื่อว่าวัดปทุมคงคามีงานประจำปี บรรดานักเลงเกิดมีเรื่องวิวาทกัน หลวงพ่อทาจึงเดินไปเอามือปิดกระบอกพลุขณะที่มีผู้จุดชนวนไว้ ปรากฏว่าพลุระเบิดคากระบอก แต่หลวงพ่อทากลับไม่เป็นอะไร  เหล่าเสือร้ายนักเลงเถื่อนจึงต่างยอมศิโรราบและเกรงกลัวท่านมาก ถึงกับขนานนาม “หลวงพ่อเสือ” แต่นั้นมาวัดนี้ก็ถูกเรียกขานเป็น วัดพะเนียงแตก


หลวงพ่อทา เป็นพระแห่งราชสำนักจึงเข้าร่วมพระราชพิธีครั้งสำคัญเสมอมา เป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระพุทะเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างมาก ท่านมีอายุอยู่ร่วมสมัยกับพระอริยสงฆ์องค์สำคัญหลายรูป ที่อาวุโสกว่าท่านก็เห็นจะเป็น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺรํสี) วัดระฆัง ธนบุรี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๘ หลวงพ่อแก้ว วัดเครือวัลย์ ชลบุรี หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน พิจิตร หลวงปู่จีน วัดท่าลาด ฉะเชิงเทรา หลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นครปฐม และหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง นนทบุรี



ส่วนพระอริยสงฆ์ที่มีอายุรุ่นคราวเดียวหรือใกล้เคียงกับท่าน องค์สำคัญ และเป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ หลวงพ่อม่วง วัดบ้านทวน กาญจนบุรี และหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ เป็นต้น ส่วนพระชั้นศิษย์ได้แก่ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม หลวงพ่อวงษ์ วัดทุ่งผักกูด  นครปฐม หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก สุพรรณบุรี และหลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม กาญจนบุรี

วัตถุมงคลที่หลวงพ่อทา ได้สร้างไว้มีทั้งพระเครื่อง และเครื่องรางของขลัง ปัจจุบันใครมีต่างก็เก็บรักษาไว้อย่างหวงแหน ส่วนใครที่ยังไม่มีต่างก็พยายามไขว่คว้าให้ได้ แต่ถึงทุกวันนี้หากจะได้มาก็ต้องแลกเปลี่ยนด้วยมูลค่าที่สูงมาก พระเครื่องที่ท่านสร้างเป็นเหรียญหล่อรุ่นแรก ออกที่วัดบางหลวง ในราวปีพ.ศ.๒๔๔๐ ซึ่งครั้งหนึ่งท่านเคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั่น และสร้างอีกครั้งเป็นเหรียญหล่อรุ่น ๒ ที่วัดพะเนียงแตก นอกจากนั้นยังมีพระปิดตามหาอุตม์ และเครื่องรางต่าง ๆอีกเป็นจำนวนมาก


สำหรับเหรียญหล่อที่นำมาลงไว้นี้ เป็นเหรียญหล่อรุ่น ๒ ออกที่วัดพะเนียงแตก ในราวปีพ.ศ.๒๔๕๐ ห่างจากเหรียญหล่อรุ่นแรกราว ๑๐ ปี เหรียญรุ่นนี้มีทั้งแบบหูในตัวและไม่มีหู ในที่นี่เป็นแบบหูในตัว เป็นเหรียญหล่อรูปทรงชะลูดคล้ายห้าเหลี่ยมตอนบนขยักเป็นซุ้มมีหูในตัว ด้านในมีเส้นซุ้มอีกชั้นวิ่งขนานตามแนวซุ้มนอก ด้านบนจึงมีลักษณะคล้ายประภามณฑล องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนฐานสองชั้น  ด้านหลังเป็นเส้นซุ้มเช่นเดียวกับด้านหน้า ตรงกลางเป็นอักขระขอม “อุ” และ “มิ”


เหรียญหล่อรุ่น ๒ สร้างแบบการหล่อโบราณจากเบ้าประกบหน้าหลัง เนื้อโลหะทองผสม บางองค์แก่ทองคำ พื้นรอบองค์พระด้านหน้า และรอบตัวอักขระด้านหลัง ไม่ราบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ในพระที่ไม่ผ่านการใช้จะปรากฏคราบขึ้นมาปกคลุม วรรณะภายนอกจึงคล้ำไปทางน้ำตาลเข้ม อาจมีสนิมเขียวแซมประปราย แต่หากถูกสัมผัสมือจะเกิดความมันวาวขึ้นมาอันเป็นธรรมชาติของพระโบราณอายุกว่า ๑๐๐ ปี นอกจากนั้นทุกส่วนขององค์พระแม้จะมีรอยขรุขระมากน้อยเพียงใด แต่จะไม่มีความคมเกิดขึ้นเลย เมื่อสัมผัสเหรียญหล่อจะค่อนข้างลื่นมือจากการคลายตัวของสารโลหะในเนื้อพระที่ออกมาคลุมองค์พระนั่นเอง ลักษณะนี้จึงคล้ายกับพระสมเด็จฯที่มีการคลายตัวของน้ำมันตังอิ้ว นอกจากนี้หากใช้กล้องส่องที่มีกำลังขยายสูงจะพบว่าพื้นผิวทุกส่วนของเหรียญหล่อมีรอยยุบย่นขรุขระอยู่ทุกอณู ในทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า “การแลกเปลี่ยนอิเลคตรอนระหว่างเนื้อโลหะกับธาตุอากาศ” จึงทำให้เกิดลักษณะพื้นผิวอย่างนี้

ปัจจุบัน เหรียญหล่อรุ่น ๒ ของหลวงพ่อทา ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก บางท่านให้ความสำคัญมากกว่าเหรียญรุ่นแรก ด้วยเหตุที่เหรียญรุ่นนี้สร้างที่วัดพะเนียงแตกเป็นครั้งแรกโดยตรง จึงเรียกกันว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกของวัดพะเนียงแตก และด้วยความนิยมที่ทวีมากขึ้นตามลำดับ จึงมีการสร้างเลียนแบบออกมาเป็นจำนวนมาก ผู้สนใจจึงควรศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆด้วยตนเอง ทั้งจากตำรา และผู้ที่มีความรอบรู้เชื่อใจได้ จึงจะมีโอกาสครอบครองพระเครื่องอันทรงคุณค่า ที่หลวงพ่อทาได้มอบไว้เป็นสมบัติทางพุทธศาสนาแก่ลูกหลานในวันนี้ครับ.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
..........จันทร์พลูหลวง..........

*********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น