โพสต์แนะนำ

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จ ๔


พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์




พระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ เป็นอีกหนึ่งพิมพ์ที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) สร้างไว้เป็นมรดกแผ่นดินต่อชาวสยาม ตามปกติพิมพ์ทรงเจดีย์มีอยู่ด้วยกันราว ๔-๕ พิมพ์ ขนาดรูปทรงพระใหญ่เล็กลดหลั่นกันไปตามแต่ช่างผู้แกะแบบจะรังสรรค์ออกมา


สำหรับพระสมเด็จฯวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ที่นำมาลงไว้นี้ กรอบนอกเป็นทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก ถัดมาเป็นแนวเส้นบังคับพิมพ์ เส้นซุ้มครอบแก้วขึ้นเป็นเส้นตรงแนวเฉียงจากฐานกรอบล่างทางด้านขวาองค์พระก่อนตีโค้งคว่ำเป็นครึ่งวงกลมไปทางด้านซ้าย  แนวเส้นที่วิ่งลงไปด้านนี้ตั้งชันกว่าด้านตรงข้ามเล็กน้อย ลงไปจรดฐานกรอบล่าง

ฐานพระชั้นที่ ๑วางขนานฐานกรอบล่าง เป็นแผ่นยาวปลายทั้งสองด้านตัดเฉียงผายออกด้านล่าง ฐานชั้น ๒ เป็นคมขวานฐานสิงห์แต่ฐานจะเห็นชัดทางด้านขวามากกว่า แนวเส้นฐานโค้งลงเล็กน้อย รับกับฐานชั้นที่ ๑ ที่วางเป็นเส้นแนวโค้งเล็กน้อยไปรับกับพระเพลาขององค์พระ


บริเวณพระเพลาเห็นเป็นเส้นพระชง(แข้ง)ชัดเจน องค์พระขึ้นเป็นรูปตัววี ปรากฏสังฆาฏิ พระพาหา(แขน)ทั้งสองด้านวาดโค้งลงมาจรดพระหัตถ์ทั้งสองข้าง ส่วนบนพระอังสา(บ่า)ตอนบนกลืนหายไปในผนัง ไม่ปรากฏลำพระศอ เหนือขึ้นไปเป็นพระพักตร์เป็นรูปทรงกลมไข่ พระเกศโคนใหญ่ปลายเรียวจรดเส้นซุ้ม

สีของเนื้อพระ ออกขาวอมเขียวระเรื่อ แตกระแหงกระจายทั่วองค์ พื้นผิวบางส่วนปรากฏร่องแอ่ง บางส่วนโดยเฉพาะบริเวณพื้นผนังระหว่างแขนซ้ายกับเส้นซุ้มปรากฏชิ้นส่วนที่เป็นพืช(ออแกนิค)บางชนิดหดตัวแห้งติดลึกลงไปในพื้นผนัง


ด้านหลังองค์พระ มีร่องรอยการหดตัวเป็นเส้นแขนงตลอดรอบขอบองค์พระ บางส่วนของผิวปรากฏรอยครูดของเนื้อพระที่เรียกว่า”ปูไต่”และ “หนอนด้น” และส่วนผสมที่เป็นออแกนิคก็มีอยู่เช่นกัน ที่สำคัญเส้นร่องที่แตกแขนงทุกเส้นมีคราบน้ำมันตังอิ้วที่ระเหิดขึ้นมาแล้วปะปนกับฝุ่นละออง ทำให้เห็นเป็นเส้นเด่นชัดขึ้น นอกจากนั้นพื้นผิวทุกตารางอณูทั้งด้านหน้าและด้านหลังปรากฏรอยพรุนปลายเข็มทั้งองค์ อันเป็นธรรมชาติของพระสมเด็จฯที่ผ่านกาลเวลามานานร่วม ๒๐๐ ปี

พระสมเด็จฯวัดระฆัง ทุกพิมพ์ทรงที่สร้างโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) แม้จะเป็นงานที่ด้วยมือ แต่คงไว้ซึ่งความลงตัวในทุกส่วนอย่างน่าทึ่ง การพิจารณาควรศึกษาความเก่าให้กระจ่าง คราบต่าง ๆที่เห็นต้องแห้งสนิทแต่ดูแล้วหนึกนุ่ม และมีความลื่นอยู่ในตัวเอง.


ศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.......จันทร์พลูหลวง............

*********

ข้อมูลประกอบบทความ

หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น