โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๙


หลวงพ่อคง ธมฺมโชโต
วัดบางกะพ้อม สมุทรสงคราม






หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เป็นชาวสมุทรสงครามโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ ๓ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๐๗ ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๒ ปีเพื่อศึกษาเล่าเรียนจนอายุได้ ๑๙ ปีจึงลาสิกขาออกมาเพื่อทำหน้าที่บุตรรับใช้ช่วยเหลือในกิจการงานที่บิดามารดาทำอยู่ จากนั้นในปีรุ่งขึ้นเมื่ออายุได้ ๒๐ ปีบริบูรณ์ จึงเข้าอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเหมืองใหม่ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๒๗ โดยมีพระอาจารย์ด้วง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการจุ้ย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการทิม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ธมฺมโชโต”

หลังจากอุปสมบท ท่านได้ศึกษาคัมภีร์มูลกัจจาย จนสามารถแปลธรรมบทได้อย่างคล่องแคล่ว ท่านยังศึกษาวิชชาเวทย์วิทยาคมกับพระอาจารย์ด้วง พระอุปัชฌาย์ผู้ทรงภูมิด้านผงวิเศษ หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ผู้ทรงภูมิวิชชานะปัดตลอด หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก ผู้ทรงภูมิในวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากนั้นท่านยังให้ความเคารพนับถือต่อพระผู้ทรงภูมิอีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย หลวงพ่อรุ่ง วัดดอนยายหอม และหลวงพ่อแท่น วัดป่าแป้น เป็นต้น

นอกจากนี้ หลวงพ่อคง ยังอยู่ร่วมสมัยกับพระอริยะรูปสำคัญในเวลานั้นอีกมากมาย อาทิ หลวงพ่ออิ่ม วัดหัวเขา สุพรรณบุรี, หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน สุพรรณบุรี, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ สมุทรสาคร, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค พระนครศรีอยุธยา และหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง เพชรบุรี เป็นต้น

ในราวปีพ.ศ.๒๔๔๖ ท่านได้ส่งเสริมให้ญาติโยมและบรรดาลูกศิษย์ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนกล่าวได้ว่ามีผู้สนใจมาเล่าเรียนกันเป็นจำนวนมาก จนถึงพรรษาที่ ๒๑ วัดบางกะพ้อม ไม่มีผู้ปกครองและวัดก็ยังมีสภาพเสื่อมโทรม ชาวบ้านจึงอาราธนาให้ท่านไปปกครอง และท่านก็ดูแลวัดแห่งนี้เรื่อยมา

ในบั้นปลายของหลวงพ่อคง ท่านดำเนินวัตรปฏิบัติอย่างไม่บกพร่อง ทั้งยังสร้างพระพุทธรูป วัตถุมงคล อีกมากมาย จนถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๕ ท่านขึ้นนั่งร้านไปตกแต่งพระประธานองค์ใหม่ของวัดบางกะพ้อม หลังจากถึงขั้นตอนสุดท้ายท่านได้สวมเกศพระประธาน ก็เกิดอาการหน้ามืดจึงประคองสติลงลงนั่งอยู่บนนั่งร้านแล้วเขาสมาธิฌาน ส่วนบรรดาลูกศิษย์ที่ช่วยงานอยู่ด้านล่างเห็นหลวงพ่อนั่งอยู่นานผิดสังเกต ขึ้นไปดูจึงรู้ว่าท่านได้ละสังขาร ณ เบื้องหน้าพระประธานอย่าง “ผู้รุ่งเรืองในธรรม”ตามฉายา “ธมฺมโชโต” ที่ท่านดำเนินมาตลอดการครองสมณะเพศแล้ว รวมสิริอายุได้ ๗๘ ปี ๕๘ พรรษา มีชีวิตยาวนานถึง ๕ แผ่นดินรัชกาล.


พระคาถาบูชาหลวงพ่อคง

นะโม ๓ จบ แล้วว่า

พุทธัง เพชรคงฆัง ธัมมัง เพชรคงฆัง สังฆัง เพชรคงฆัง

พุทธัง มาเรโส ธัมมัง มาเรโส สังฆัง มาเรโส.

*****

พระคามงคลศักดิ์สิทธิ์
หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม

นะโม ๓ จบฯ แล้วว่า

นะโมพุทธายะ มะอะอุ สิวัง มหาอุต มังคลานิ สัมพุทธะ คัพภะเวสันโต.

(สวดภาวนาเช้าเย็น ป้องกันภัย เทวดาคุ้มครอง)



จันทร์พลูหลวง...รวบรวม/เรียบเรียง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น