โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระสมเด็จฯ๑๔


พระสมเด็จฯบางขุนพรหม
พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร(ใหญ่)


พระสมเด็จฯ กรุวัดบางขุนพรหมใน(วัดใหม่อมตรส) พิมพ์ทรงอกครุฑเศียรบาตร  เป็นพระพิมพ์ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวไม่แพ้พิมพ์อื่น ตามปกติสามารถจัดแบ่งพิมพ์ทรงได้เป็น ๓ ขนาด คือแบบพิมพ์ใหญ่ แบบพิมพ์กลาง และแบบพิมพ์เล็ก แต่ละแบบพิมพ์ก็มีแยกย่อยออกไปอีกอย่างละเล็กละน้อย

สำหรับองค์ที่นำมาลงนี้ เป็นพระสมเด็จฯบางขุนพรหม พิมพ์อกครุฑเศียรบาตร แบบพิมพ์ใหญ่ เป็นพระกรุเก่า ที่ยังไม่มีคราบกรุปกคลุมมากนัก ส่วนมากเป็นคราบฝุ่นละอองเกาะกลืนไปกับองค์พระ แต่ด้วยสภาพภายในกรุขององค์พระเจดีย์ที่เสมียนตราด้วงโยมอุปัฏฐากเจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างไว้ มีทั้งความร้อน ความเย็น ความชื้น และความอับ เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาในแต่ละปี จึงทำให้มวลสารอันเป็นมงคล ของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ผุดขึ้นมาจากภายในองค์พระ




การผุดขึ้นของมวลสารนี้ นับเป็นจุดสำคัญยิ่งที่ควรพิจารณา เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวถูกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นสภาพเย็นและมีฝนตก น้ำฝนบางส่วนแทรกซึมเข้าไปในองค์เจดีย์ทำให้เกิดความชื้นภายในกรุ สภาพอย่างนี้ก็คือระอุอยู่ในกรุนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็วนี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์พระด้วยเช่นกัน กล่าวคือเนื้อหลักของพระสมเด็จฯบางขุนพรหม ทำมาจากเปลือกหอยกาบเผาแล้วโขลกตำให้ละเอียด เมื่อผ่านกระบวนการหมักจนได้ที่แล้วจึงนำมาโขลกและนวดเพิ่ม ในขั้นตอนนี้เจ้าประคุณสมเด็จฯจะนำผงวิเศษ ๕ ประการ พร้อมกับมวลสารอันเป็นมงคลตามสูตรของท่านใส่ลงไป ทั้งผงวิเศษและมวลสารนี้บางส่วนจะไม่กลืนกลายไปกับเนื้อปูนเปลือกหอย หากแต่ยังคงสภาพอยู่เช่นเดิม

มวลสารภายในองค์พระผุดขึ้นมาระหว่างพระพาหากับเส้นซุ้มด้านขวา


มวลสารที่ผุดขึ้นตามรอยแยกของขอบล่างองค์พระ

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการกดแบบพิมพ์ การตากจนแห้งได้ที่ และนำไปปลุกเสก เสร็จแล้วจึงอัญเชิญไปบรรจุภายในองค์พระเจดีย์ จนผ่านเวลาไปนานหลายปี เนื้อหลักที่เป็นปูนเปลือกหอยจะแห้งสนิท ขณะที่มวลสารบางส่วนยังคงสภาพอิสระอยู่ภายในองค์พระ จนองค์พระเกิดร่องรอยระแหงจากการหดตัว และสภาพอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน มวลสารที่อยู่ภายในจึงดันตัวออกมาตามร่องรอยที่อ่อนแอ ด้วยเหตุนี้ จึงพบว่าในพระสมเด็จฯบางขุนพรหม บางองค์จะปรากฏการผุดของมวลสารขึ้นมา บางท่านให้นิยามว่า เป็นพระธาตุผุดขึ้นมานั่นเอง

การพิจารณาพระสมเด็จฯ ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) ทุกวัด ผู้สนใจสามารถนำปัจจัยทางธรรมชาติของแต่ละแหล่งที่ มาเป็นส่วนประกอบ หากเข้าใจในรูปแบบพิมพ์ทรง เนื้อหามวลสาร และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์พระจากสิ่งแวดล้อมนั้น ก็จะช่วยให้ง่ายต่อการตัดสินใจครับ.


ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********

ข้อมูลประกอบบทความ
-หนังสือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) : ผู้ทรงคุณวิเศษเมตตามหาบารมี”.2554.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น