โพสต์แนะนำ

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

อริยสงฆ์สยาม ๗


หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังราชวรวิหาร




พระภาวนาโกศลเถระ หลวงปู่เอี่ยม สุวณฺณสโร วัดหนัง บางขุนเทียน เกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ  ตรงกับวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๕ ที่บ้านคลองบางหว้า บางขุนเทียน ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวัยเด็กท่านได้เรียนหนังสือที่สำนักหลวงปู่รอด และได้ศึกษาพระปริยัติธรรม จนอายุครบ ๒๒ ปีจึงเข้าอุปสมบท ณ วัดราชโอรสาราม อ.บางขุนเทียน จ.ธนบุรี โดยพระสุธรรมเทพเถระ(เกิด) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมเจดีย์(จีน) และพระภาวนาโกศลเถระ(รอด) เป็นคู่กรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุวณฺณสโร”

หลังจากอุปสมบท ท่านได้ศึกษาปริยัติธรรมควบคู่ไปกับวิปัสสนาธุระ กับพระภาวนาโกศลเถระ(รอด) ต่อมาพระอาจารย์ได้ย้ายไปวัดโคนอน ท่านก็ได้ย้ายตามไปปรนนิบัติ ซึ่งที่นี่ท่านได้ศึกษาสรรพวิชชาทั้งการสร้างพระเครื่อง เครื่องราง ของขลัง คาถาอาคม และมนตราต่าง ๆจนเชี่ยวชาญ จนถึงกาลมรณกรรมของพระอาจารย์ ท่านจึงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา

เมื่อท่านอายุได้ ๖๖ ปีพรรษาที่ ๔๔ ที่วัดหนังไม่มีเจ้าอาวาส ชาวบ้านจึงมาอาราธนาให้ท่านไปครองวัดแห่งนี้ ท่านจึงครองวัดหนังมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๔๑ และปฏิบัติกิจสงฆ์อย่างครบถ้วน ทั้งการอบรมบ่มนิสัยพระเณรในวัด การลงอุโบสถเป็นนิตย์ และปฏิบัติกิจในพระราชพิธีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสำนักพระราชวัง

ในการเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หลวงปู่เอี่ยมได้ถวายพระคาถาและยันต์มงกุฎพระพุทธเจ้าเพื่อปกป้องคุ้มครองพระองค์ท่าน จนกลายเป็นตำนานเล่าขานสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้

หลวงปู่เอี่ยม ท่านอยู่ร่วมสมัยกับพระอริยะองค์สำคัญของสยามมากมาย อาทิ หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก นครปฐม, หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย สมุทรปราการ, หลวงพ่อเนียม วัดน้อย สุพรรณบุรี, หลวงพ่อโต วัดเนิน ชลบุรี, หลวงปู่ภู วัดอินทร์ กทม., อาจารย์เปิง วัดชินวราราม ปทุมธานี, หลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว, หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย สมุทรสงคราม, หลวงพ่อทัพ วัดทอง ธนบุรี, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ อยุธยา และหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม เป็นต้น

สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่เอี่ยม มีอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก ที่รู้จักกันดีได้แก่ หมากทุย ปิดตาโลหะสำริดยันต์ยุ่ง พระผงหัวบานเย็น และเหรียญรูปเหมือน เป็นต้น หลวงปู่เอี่ยมดำรงสมณเพศมาจนถึงวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๙  ก็มรณภาพลงด้วยโรคชรา รวมสิริอายุ ๙๓ ปี ๗๑ พรรษา มีอายุยืนนานถึง ๕ แผ่นดิน.

คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า

นะโม ๓ จบ แล้วว่า

“อิติปิโส วิเสเสอิ อิเสเส พุทธะนาเมอิ อิเมนา พุทธะตังโสอิ อิโสตัง พุทธะปิติอิ”

ใช้ได้ทุกกรณีตั้งแต่เสกน้ำล้างหน้า เดินทางไปแห่งหนใด หมั่นภาวนาให้ติดปาก เป็นมงคลแล.



จันทร์พลูหลวง...รวบรวม/เรียบเรียง.

*********







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น