โพสต์แนะนำ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระผงสุพรรณ ๑


พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่


พระผงสุพรรณ เป็นพระพิมพ์ที่ปรากฏอยู่ในจารึกลานทอง กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองสุพรรณบุรี ครั้งแผ่นดินสุพรรณภูมิ ตามปกติแล้วมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ทรง แต่ที่ได้รับความนิยมมีอยู่ด้วยกัน ๓ พิมพ์ทรง คือพิมพ์หน้าแก่ หน้ากลาง และหน้าหนุ่ม

สำหรับพิมพ์ที่นำมาลงไว้นี้ เป็นพิมพ์หน้าแก่ ประทับนั่งปางมารวิชัยบนฐานเขียง เป็นศิลปะสุพรรณภูมิ(อู่ทอง) พระผงสุพรรณ เป็นพระที่สร้างขึ้นจากมวลสารศักดิ์สิทธิ์และผงเกสรอันเป็นมงคล มีอายุการสร้างถึงปัจจุบันร่วม ๗๐๐ ปี จึงเป็นวัตถุมงคลโบราณที่ต้องใช้หลายปัจจัยมาพิจารณาประกอบถึงความแท้

การที่พระผงสุพรรณถูกนำไปบรรจุไว้ภายในกรุพระสถูปใหญ่ กลางเมืองสุพรรณภูมิ ผ่านความร้อนอบอ้าว ความเย็น และความเปียกชื้นอยู่นานหลายศตวรรษ ย่อมมีผลให้องค์พระสุพรรณเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง




ท่านอาจารย์มนัส โอภากุล นักประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองสุพรรณ ได้ให้หลักในการพิจารณา ไว้เป็นอย่างดีแล้ว จึงขอนำมาถ่ายทอดด้วยความเคารพและยกย่อง ดังนี้

-เนื้อพระผงสุพรรณ มีความละเอียดเนียน หนึกนุ่ม มีความแห้งผาก อมความเก่าไว้ บางทีก็มีเชื้อราดำเกาะติด

-ความหนึกนุ่มของเนื้อพระผงสุพรรณ หากมองด้วยสายตาจะเห็นว่ามีความฉ่ำ เมื่อเอาสำลี หรือแปรงขนอ่อนปัดเบาเพียง ๒-๓ ครั้ง จะเกิดความมันขึ้นมาทันที ส่วนของปลอมนั้นสดตา เหมือนอิฐใหม่กับอิฐเก่า หรือเหมือนหม้อดินใหม่กับหม้อดินเก่า

-ความเหี่ยวย่นจากความหดตัวของมวลสารที่จับกันเป็นผนึก เมื่อถูกนำไปเก็บไว้ในกรุ ซึ่งมีความร้อนเย็นสลับกันไป ความชื้นในองค์พระจะถูกขับออก  จากการระเหยของความชื้นนี่เอง ทำให้เนื้อพระเหี่ยวหดลงได้...ขอให้สังเกตดูด้านหน้าขององค์พระส่วนที่เป็นผนัง เช่นที่ซอกพระพาหา-พระกร และซอกพระกรรณ หรือส่วนที่ไม่ใช่องค์พระปฏิมากร จะเห็นว่าเกิดความเหี่ยวย่นขรุขระเล็กน้อย เหี่ยวมากเหี่ยวน้อยไม่เป็นที่ยุติ

-ขอบข้างของพระผงสุพรรณเกือบทุกองค์ มีรอยตอกตัด ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ เป็นรอยขีดยาวเป็นทิวลงไปในเนื้อพระ ลักษณะคล้ายตัดด้วยตอก โดยข้อเท็จจริงตามที่ข้าพเจ้า(อ.มนัส)สันนิษฐานคิดว่าไม่ใช่ตอกตัด น่าจะใช้ของมีคมหรือมีดตัด เมื่อเฉือนลงไปในเนื้อ เม็ดดินจะลู่ไปตามดิน ทำให้เกิดรอยขีดขึ้นได้ บางทีมีดที่ใช้ตัดนั้นแห้งเกรอะกรังไปด้วยดินลู่ลงไปในเนื้อ ทำให้เกิดรอยทิวขึ้น

-ผนังขอบข้าง นอกจากมีรอยตอกตัดแล้วยังมีรอยลึก เว้าเป็นแอ่งเหมือนหน้ากระดานแอ่น เบื้องต้นที่ใช้ของมีคมเชือดเฉือนเนื้อพระลงไป ขอบข้างนั้นตรงเรียบ เมื่อเกิดการหดตัวของมวลสารทำให้ขอบข้างนั้นยุบตัวเข้าไปได้
-ด้านหลัง ลายมือที่กดประทับนั้นเชื่อว่าเป็นของมหาเถระปิยทัสสะศรี ศรีสาริบุตร เพราะลานทองจารึกไว้เช่นนั้น แต่ก็อาจจะมีลายมือบุคคลอื่นผสมผสานเข้าไปด้วย เพราะเคยเห็นลายมือทั้งก้นหอยและมัดหวาย...เส้นลายมือหยาบและหยักเป็นคลื่นน้อย ๆเนื่องมาจากการหดตัวของมวลสาร

-คราบกรุพระผงสุพรรณมี ๓ สี คือ สีดำ สีขาว และสีเหลือง สีดำคาดว่าเกิดจากเชื้อราดำจับอยู่บนผิวเนื้อคล้ายจะร่อนออกมา เป็นสีดำหม่นไม่ใช่ดำสนิทเหมือนขนกาน้ำ


จากข้อสังเกตในการพิจารณาพระผงสุพรรณของท่านอาจารย์มนัส โอภากุล นี้ นับว่าให้รายละเอียดไว้เป็นอย่างดี และสามารถนำไปเป็นหลักเกณฑ์ตรวจสอบพระผงสุพรรณอย่างได้ผล 

นอกจากนี้ หากพบพระที่มีลักษณะคล้ายพระผงสุพรรณแต่พิมพ์แตกต่างออกไป อย่าเพิ่งวาง ควรพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆตามข้างต้นก่อน เพราะยังมีพระผงสุพรรณพิมพ์อื่นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่เป็นที่นิยม อาจมีจำนวนน้อยเกินไปจึงไม่ได้ถูกระบุให้เป็นพิมพ์นิยม บางทีอาจโชคดีได้พระผงสุพรรณแท้ ๆมาครอบครองก็ได้ครับ.



ร่วมกันศึกษาเพื่อการอนุรักษ์วัตถุโบราณ
.............จันทร์พลูหลวง................

*********

ข้อมูลประกอบบทความ

-มนัส โอภากุล.พระฯเมืองสุพรรณ.มนัสการพิมพ์.สุพรรณบุรี.๒๕๓๖:(๑๐๘-๑๐๙).

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น