โพสต์แนะนำ

วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พระกริ่ง ๑



พระกริ่งบาเก็ง
(กริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์)


ในอาณาจักรขอม พุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองควบคู่ไปกับศาสนาพราหมณ์ และขึ้นสูงสุดในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๓)  ในช่วงต่อมาบางครั้งก็เกิดความขัดแย้งกันถึงขนาดทำลายศาสนาของฝ่ายตรงกันข้าม ดังจะเห็นได้จากโบราณสถานปราสาทหินหลายแห่งมีร่องรอยการแปลงกลับไปกลับมาระหว่างเทวสถานกับพุทธสถาน 

ตามคตินิยมพุทธมหายานให้ความเคารพนับถือพระไภษัชยคุรุ พระพุทธเจ้าทางการบำบัดรักษาโรค จึงมีการสร้างองค์พระพุทธรูปถือหม้อยาไว้ตามศาสนสถานเพื่อให้ผู้คนได้มาบูชากราบไหว้ขอพรและวิงวอนให้หายจากอาการเจ็บป่วย อีกส่วนหนึ่งมีการจำลองพระไภษัชยคุรุเป็นขนาดเล็กภายในก้นฐานบรรจุกริ่งที่เรียกว่าพระกริ่งนำไปประดิษฐานไว้ในขันน้ำมนต์หรือภาชนะที่ทางศาสนสถานจัดเตรียมไว้ และผู้คนก็จะนำน้ำนั้นมาดื่มหรือประพรมตามร่างกายเพื่อให้หายจากโรคภัย

พระกริ่งปทุมสุริยวงศ์(บาเก็ง)ปางมารวิชัย
พระหัตถ์ซ้ายถือวชิราวุธ ประทับนั่งบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ๗ กลีบ

ด้านหลังองค์พระไม่มีบัวกลีบ และไม่แสดงสัญลักษณ์อื่นใด

มีหลักฐานสำคัญปรากฏอยู่ใน “นิราศนครวัด” ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนิพนธ์ไว้คราวเสด็จเยือนกัมพูชาเป็นการส่วนพระองค์ในระหว่างวันที่  ๑๖ พฤศจิกายน-๑๔ ธันวาคม ๒๔๗๖  พร้อมด้วยคณะ ประกอบด้วย พระธิดา 3 พระองค์ และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) โดยได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้านายในกรุงกัมพูชา และทางการฝรั่งเศส 

ในวันที่ ๒๖พฤศจิกายน ๒๔๗๖ เสด็จทอดพระเนตรเทวสถานบนเขาพนมบาเกง(บาแค็ง,บาเก็ง-ผู้เขียน) โดยมีนายอองรี มาร์ชาล(Henri Marchal) นายช่างผู้เชี่ยวชาญดูแลรักษาโบราณสถานชาวฝรั่งเศส ร่วมนำเสด็จทอดพระเนตร  ในพระนิพนธ์มีเรื่องราวของพระกริ่งโดยตรง ตอนหนึ่งว่า

อนึ่งเรามาเที่ยวนี้ได้ตั้งใจสืบสวนการเรื่องหนึ่ง คือเรื่องพระพุทธรูปองค์เล็กๆ ซึ่งเรียกกันว่าพระกริ่ง เปนของที่นับถือและขวนขวายหากันในเมืองเรามาแต่ก่อน กล่าวกันว่าเปนพระของพระเจ้าปทุมสุริวงศ(สุริยวงศ์-ผู้เขียน)สร้างไว้ เพราะได้ไปจากเมืองเขมรทั้งนั้น เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ พระอมรโมลี(นพ)วัดบุบผาราม ลงมาส่งมหาปานราชาคณะธรรมยุติในกรุงกัมพูชาองค์แรก ซึ่งต่อมาได้เปนสมเด็จพระสุคนธ์นั้น มาได้พระกริ่งขึ้นไปให้คุณตา (พระยาอัพภันตริกามาตย์) ท่านให้แก่เราแต่ยังเปนเด็กองค์หนึ่ง เมื่อเราบวชเณรนำไปถวายเสด็จพระอุปัชฌาย์(สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์) ทอดพระเนตร์ ท่านตรัสว่า เปนกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศแท้ และทรงอธิบายต่อไปว่าพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศนั้นมี ๒ อย่าง เปนสีดำอย่าง ๑ เปนสีเหลืององค์ย่อมลงมากว่าสีดำอย่าง ๑ แต่อย่างสีเหลืองนั้นเราไม่เคยเห็น ได้เห็นของผู้อื่นก็เป็นอย่างสีดำทั้งนั้น

ต่อมาเมื่อเราอยู่กระทรวงมหาดไทย พระครูเมืองสุรินทร์เข้ามากรุงเทพฯ เอาพระกริ่งมาให้อีกองค์หนึ่ง ก็เปนอย่างสีดำ ได้พิจารณาเทียบเคียงกันดูกับองค์ที่คุณตาให้ เห็นเหมือนกันไม่ผิดเลย จึงเข้าใจว่าพระกริ่งนั่น เดิมเห็นจะตีพิมพ์ทำทีละมาก ๆ และรูปสัณฐานเห็นว่าเปนพระพุทธรูปมหายานอย่างจีน มาได้หลักฐานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยราชทูตต่างประเทศคนหนึ่งเคยไปอยู่เมืองปักกิ่ง ได้พระกริ่งทองของจีนมาองค์หนึ่ง ขนาดเท่ากันเปนแต่พระพักตร์มิใช่พิมพ์เดียวกับพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศ ถึงกระนั้นก็เปนหลักฐานว่าพระกริ่งเปนของมาแต่เมืองจีนแน่ มาเที่ยวนี้จึงตั้งใจจะสืบหาหลักฐานว่าพระกริ่งนั้นหากันได้ที่ไหนในเมืองเขมร ครั้นมาถึงเมืองพนมเพ็ญ(พนมเปญ-ผู้เขียน) พอพระเจ้าพระสงฆ์ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ลองไต่ถามก็ไม่มีใครรู้เรื่องพระกริ่งและไม่เคยเห็น มีออกญาจักรีคนเดียวบอกว่าสัก ๒๐ ปีมาแล้วได้เคยเห็นของชาวบ้านนอกองค์หนึ่งเปนพระชนิดเช่นว่าแต่ก็หาได้เอาใจใส่ไม่

ครั้นมาถึงพระนครวัด จึงมาได้ความจากมองสิเออมาร์ชาล ผู้จัดการรักษาโบราณสถาน ว่าเมื่อสัก ๒-๓ เดือนมาแล้วเขาขุดซ่อมเทวสถานซึ่งแปลงเปนวัดพระพุทธศาสนา อยู่บนยอดเขาบาเกง ริมนครธมข้างด้านใต้ พบพระพุทธรูปเล็ก ๆ อยู่ในหม้อใบหนึ่งหลายองค์ เอามาให้เราดู เปนพระกริ่งพระเจ้าปทุมสุริวงศทั้งนั้น มีทั้งอย่างดำและอย่างเหลือง ตรงกับที่สมเด็จพระอุปัชฌาย์ทรงอธิบาย จึงเป็นอันได้ความแน่ว่าพระกริ่งที่ได้ไปยังประเทศเราแต่ก่อนนั้น เปนของที่หาได้ในกรุงกัมพูชาแน่ แต่จะทำมาจำหน่ายจากเมืองจีน หรือพวกขอมจะเอาแบบพระจีนมาคิดหล่อขึ้นในประเทศขอม ข้อนี้ทราบไม่ได้ “(นิราศนครวัด,85-86)

คราบสนิมสีเขียวที่เกิดจากปฏิกิริยาของเนื้อโลหะที่บรรจุไว้ภายในหม้อเป็นเวลานาน

กริ่งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ชื่อนี้มีที่มาอย่างไรไม่แน่ชัด แต่มีการค้นพบที่เขาพนมบาเกง โดยนายอองรี มาร์ชาล ระบุว่า เทวสถานซึ่งแปลงเป็นวัดพระพุทธศาสนาจึงน่าจะมีการประดิษฐานพระไภษัชยคุรุและหม้อน้ำมนต์ที่ภายในบรรจุพระกริ่งอยู่ ด้วยเหตุนี้พระกริ่งที่นายอองรี มาร์ชาล พบ จึงถูกบรรจุอยู่ในหม้อ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นหม้อน้ำมนต์นั่นเอง

ด้านหลังมีคราบสนิมน้ำตาลปะปนกับสนิมเขียวและสนิมแป้ง
ส่วนปราสาทบาเกงนี้ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ายโสวรมันที่ 1 (พ.ศ.๑๔๓๒-๑๔๔๓) เป็นเทวสถานฮินดูในลัทธิไศวนิกาย ช่วงต่อมามีกษัตริย์ที่นับถือพุทธมหายานก้าวขึ้นมามีอำนาจอีกหลายพระองค์ อาทิ พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 1(พ.ศ.๑๔๗๘)ในสมัยปลายอาณาจักรเจนละ จนเข้าสู่สมัยพระนคร พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ ๒(พ.ศ.๑๖๙๓-๑๗๐๓) และรุ่งเรืองสุดขีดในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๓ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงเทวสถานมาเป็นพุทธสถาน และสร้างพระกริ่งบรรจุในหม้อน้ำมนต์ก็อาจเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของระยะนี้ อายุการสร้างของพระกริ่งปทุมสุริยวงศ์(กริ่งบาเก็ง)จึงอยู่ระหว่างประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ ปี.


*********


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น